บทเพลงคลาสสิกแต่ละยุคสมัยที่ควรรู้จัก
ได้ฤกษ์เขียนบล๊อกต่อซักที หลังจากดองไว้นานโข
คราวนี้จะมาเขียนเกี่ยวกับเพลงคลาสสิกครับ ^^
จาก 3 ตอนที่แล้ว ผมลองดูว่ามีอะไรตกหล่นบ้าง
ก็พบจุดใหญ่อย่างนึงเลย คือยุคของเพลงครับ
แต่ก่อนที่จะลงรายละเอียดยิบย่อยยุคต่างๆ ต่อไปนั้น
เห็นทีจะต้องอธิบายคำว่า “เพลงคลาสสิก” ซะก่อน
(เขียนไว้กันงงกับชื่อยุคข้างล่างที่เหมือนกันครับ)
คำว่า คลาสสิก คือ สิ่งที่ได้รับการยอมรับแล้วว่าดีจริง
เมื่อนำมาใช้ทางดนตรี ก็คือดนตรีที่ถูกแต่งมาอย่างดี
มีระเบียบแบบแผนในตัวมันเอง (ไม่ได้มั่วๆ ออกมา)
เพลงพวกนี้จึงไม่ตายไปตามเวลา (ของดีอยู่ได้นาน
เมื่อรู้ความหมายของเพลงคลาสสิกแล้ว ก็มาดูยุคกันเลย
ยุคกลาง (500-1400)
บทเพลงที่เหลือบันทึกไว้มักเป็นเพลงร้องทางศาสนา
เพลงมีรูปแบบเรียบง่าย เครื่องดนตรีมีได้แค่ชนชั้นสูง
และการบันทึกเพลงไม่เป็นที่นิยม เพราะกระดาษแพง
บทเพลงชุดที่มีการรวบรวมไว้คือ บทสวดเกรกอเรียน
คีตกวีเด่นในยุคนี้เช่น กวิโด ฮิลเดการ์ด
ยุคเรเนสซองส์ (1400-1600)
เริ่มวางรากฐานการประสานเสียงและดนตรีหลายแนว
การบันทึกโน้ตเริ่มแพร่หลาย ทำการศึกษาเพลงได้ง่าย
และเริ่มมีการแต่งเพลงที่บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีขึ้น
คีตกวีเด่นในยุคนี้เช่น ปาเลสตรินา กาบริเอลี
ยุคบาโรก (1600-1760)
เป็นยุคที่เริ่มมีการวางระเบียบแบบแผนเข้าไปในเพลง
บทเพลงจึงมีเอกภาพ และการที่ศาสนจักรให้ความสำคัญ
ทำให้ดนตรีเพื่อศาสนาเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมากในยุคนี้
คีตกวีเด่นในยุคนี้เช่น มอนเตแวร์ดี วิวัลดี แฮนเดล บาค
ยุคคลาสสิก (1730-1820)
เป็นยุคที่กฏเกณฑ์ทางดนตรีถูกพัฒนาขึ้นมาจนสูงสุด
บทเพลงพยายามหาจุดที่ดนตรีมีความสวยงามสมบูรณ์
ช่วงนี้เพลงส่วนมากแต่งขึ้นมาเพื่อรับใช้เจ้านายในวัง
คีตกวีเด่นในยุคนี้เช่น ไฮเดิน โมสาร์ท เบโทเฟน ชูเบิร์ต
ยุคโรแมนติกตอนต้น (1800-1850)
นักแต่งเพลงไม่ได้แต่งเพลงเพื่อถวายเจ้านายอีกแล้ว
จึงเริ่มแต่งเพลงที่ไม่จำเป็นต้องสวยงามอย่างเดียว
แต่เป็นเพลงสะท้อนอารมณ์ มีทั้งความสุขและเศร้า
คีตกวีเด่นในยุคนี้เช่น เมนเดลโซน โชแปง ชูมันน์ ลิสต์
ยุคโรแมนติกตอนปลาย (1850-1910)
เนื่องจากยุคโรแมนติกเป็นช่วงที่บทเพลงน่าฟังมาก
จึงแบ่งได้หลายช่วง โดยช่วงนี้เป็นช่วงของชาตินิยม
เพลงทั้งหลายจึงมีกลิ่นอายของความรักชาติอยู่ด้วย
คีตกวีเด่นในยุคนี้เช่น วากเนอร์ บรามส์ ไชคอฟสกี ซิเบลิอุส
ยุคโรแมนติกในศตวรรษที่ 20 (1910-1950)
ถึงแม้ช่วงนี้จะมีเพลงเนวใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างมากมาย
แต่ยังมีนักแต่งเพลงที่ยังคงซาบซึ้งกับยุคโรแมนติกอยู่
จึงได้หาวิธีแต่งเพลงแนวโรแมนติกในรูปแบบใหม่ๆ
คีตกวีเด่นในยุคนี้เช่น รัคมานินอฟ โฮลซต์
ยุคอิมเพรสชัน (1890-1940)
ยุคนี้ไม่ใช่ยุคใหญ่ครับ เพียงแต่ผมชอบเป็นพิเศษ ^^
เพลงยุคนี้จะว่าไปก็เหมือนกับภาพแนวอิมเพรสชัน
เป็นเพลงที่มีความลึกลับ เลือนลาง ชวนค้นหา
คีตกวีเด่นในยุคนี้เช่น เดอบุสซี ราเวล
ยุคศตวรรษที่ 20 (1900-2000)
นักแต่งเพลงปฏิวัติการแต่งเพลงเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่
เช่น นำทำนองเพลงพื้นบ้านมาดัดแปลงใส่ในบทเพลง
หรือแต่งเพลงโดยไม่อิงเสียงหลัก แต่ใช้โน้ตทั้ง 12 ตัว
คีตกวีเด่นในยุคนี้เช่น เชินแบร์ก บาร์ตอก เคจ
ทั้งหมดที่สำคัญๆ ก็มีเท่านี้หละครับ
และนี่คงเป็นบทความสุดท้ายที่เขียนพื้นฐานแล้วครับ
คราวหน้าจะพาไปฟังเพลงดีกว่า ติดตามด้วยเน้อ ^^
author