วงแหวนเว็บ

neizod's speculation

insufficient data for meaningful answer

การสอนด้วยตัวอย่างที่ดีนั้นยาก

Sunday, June 1, 2014, 06:27 PM

ถ้าช่วงนี้ใครเข้าเว็บ Python.org คงจะเห็นตัวอย่างโค้ดนี้

list = [2, 4, 6, 8]
sum = 0
for num in list:
    sum = sum + num
print("The sum is:", sum)

เรียบง่ายและงดงาม…

แต่ถ้าไปถามคนที่เขียน Python ประจำนี่ด่าตรึมเลย เพราะโค้ดด้านบนนี้มีจุดอ่อนอยู่ 2 ประการ

  1. มีการประกาศชื่อตัวแปร list กับ sum ซึ่งทั้ง 2 ชื่อนี้ เป็นชื่อของฟังก์ชันมาตฐาน ถึงแม้ว่าจะไม่มีข้อห้ามให้ประกาศชื่อซ้ำได้เหมือนกับพวก reserved keyword แต่การทำเช่นนี้ก็บาปมากเพราะ 2 ฟังก์ชันนี้จะไม่สารมารถถูกเรียกใช้ได้โดยง่ายอย่างที่ตัวภาษาออกแบบไว้
  2. Python มีฟังก์ชัน sum สำหรับหาผลรวมของชุดตัวเลขให้ใช้งาน นอกจากจะเขียนได้ง่ายและทำงานเร็วกว่าแล้ว มันยังสร้างสุขลักษณะที่ดีต่อการเขียนโปรแกรมสำหรับใช้งานในโลกจริงด้วย
  3. (ข้อนี้เพิ่มให้ในฐานะนักทฤษฎีคณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์) ขั้นตอนวิธีข้างต้นสามารถพิสูจน์ลดรูปให้เป็น $O(1)$ ได้ ถ้าลำดับเลขนำเข้าเป็นเลขจำนวนเต็มเรียงกันทั้งหมด หรือเป็นเลขคู่เรียงกัน หรือเป็นเลขคี่เรียงกัน

ตัวอย่างนี้จึงเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีในการนำมาสอนเขียนโปรแกรม เพราะว่าโค้ดแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้นในโลกจริงเลย (แน่นอนว่าคนที่ยกตัวอย่างนี้มา อาจแก้ต่างว่าโค้ดนี้มีเจตนาที่จะยกตัวอย่างลูปให้มือใหม่หัดเขียนโปรแกรม ซึ่งโดยส่วนตัวผมไม่ค่อยเห็นด้วยเพราะนี่คือหน้าเว็บที่มีทุกระดับฝีมือมาเยี่ยมเยียน ไม่ใช่บทที่ 1 ในหนังสือ Programming 101)

ถ้าเช่นนั้น แล้วจะมีตัวอย่างแบบไหนที่ดีพอหละ?

ผมคิดว่าตัวอย่างที่ดี เข้าเกณฑ์แค่ข้อเดียวก็พอ คือต้องไม่ทำหน้าที่ซ้ำซ้อนกับสิ่งที่มีอยู่แล้ว (do not reinvent the wheel)

ปัญหาสำคัญสำหรับแนวคิดนี้ คือของที่ง่ายพอจะเอามาเป็นตัวอย่างมักมีอยู่เกือบหมดแล้ว จะให้สอนโดยไม่ยกตัวอย่างซ้ำกับของที่มีเลยคงยาก

โชคดี (?) ที่ Python ยังไม่มีฟังก์ชันผลคูณรวม (product) ทำให้โค้ดในโลกความจริง ที่สามารถนำมาสอนเขียนได้ดังนี้

numbers = [2, 4, 6, 8]
product = 1
for number in numbers:
    product = product * number
print("The product is:", product)

เพราะการสร้างตัวอย่างที่ดีไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

neizod

author