วงแหวนเว็บ

neizod's speculation

insufficient data for meaningful answer

กฎ/ทฤษฎี

Wednesday, November 8, 2017, 12:39 AM

ถึงแม้หลายคนจะไม่ได้เรียนสายวิทยาศาสตร์อย่างลึกซึ้ง แต่ก็น่าจะคุ้นหูกับการค้นพบที่สำคัญของโลกเหล่านี้บ้าง “กฎการเคลื่อนที่ของนิวตัน” “ทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์” หากตัดกลไกเบื้องหลังว่ามันทำงานอย่างไร หรือไม่พูดถึงเกร็ดทางประวัติศาสตร์ของการค้นพบแล้ว เรื่องที่น่าจะติดใจใครอีกหลายคนคือทำไมความรู้ทางวิทยาศาสตร์ทั้งสองถึงมีชื่อขึ้นต้นที่แตกต่างกัน?

เรื่องนี้ TED-Ed เคยเล่าไปแล้วครั้งนึง (ตามวิดีโอข้างต้น) แต่ถ้าจะให้จับมาสรุปสั้นๆ ก็คงได้ประมาณนี้

  • กฎทางวิทยาศาสตร์ ตอบคำถามว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นจากเงื่อนไขตั้งต้น (what happen)
  • ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ พยายามอธิบายว่าทำไมเหตุการณ์ถึงเกิดขึ้นเช่นนั้น (why)

ให้คิดถึงเรื่องวิทยาศาสตร์จ๋าอาจปวดหัวคิดไม่ไหว งั้นลองดูตัวอย่างจากเรื่องทั่วไปในชีวิตน่าจะดีกว่า

จากการสังเกตติดตามข่าวอยู่พักใหญ่พบว่า เมื่อไอดอลเลือกใช้สินค้ารุ่นใด สินค้าในรุ่นนั้นจะถูกขายหมดไปจากคลังสินค้าอย่างรวดเร็ว และมันถูกขายซ้ำผ่านนักเก็งกำไรในราคาที่สูงกว่าราคาทางการเสียอีก

เราอาจตั้งกฎได้ว่า เมื่อสินค้าได้รับการโปรโมทด้วยผู้มีชื่อเสียง มูลค่าของสินค้าจะสูงขึ้น (อาจเขียนกฎให้ละเอียดขึ้นโดยอาศัยข้อมูลจำนวนมากเพื่อสร้างโมเดลทางคณิตศาสตร์ขึ้นมาแสดงความสัมพันธ์)

ส่วนทฤษฎีที่พยายามอธิบายเรื่องนี้ อาจมีได้มากมาย เช่น

  • ทฤษฎีภาพที่สมบูรณ์แบบ เมื่อมนุษย์ได้เห็นไอดอลที่ชื่นชอบใช้สินค้าใด จึงอยากได้สินค้านั้นมาใช้กับตนเองบ้าง
  • ทฤษฎีความต้องการไม่สิ้นสุด จึงเกิดพ่อค้าคนกลางนักเก็งกำไร แสวงหาวิธีเพิ่มทรัพยากรของตนเองเมื่อมีโอกาส
  • ทฤษฎีสมคบคิด นักเก็งกำไรรายใหญ่คนนั้น อาจเป็นไอดอลที่ออกมาโปรโมทสินค้าก็ได้

จากเรื่องราวข้อมูลชุดเดียวกัน อาจตั้งเป็นกฎออกมาได้จำนวนไม่มากเท่าไหร่ (และกฎทั้งหลายมักไปในทางเดียวกัน) ซึ่งกฎเหล่านั้นมักทำนายผลลัพธ์เหตุการณ์ได้ถูกต้อง (จนกว่าจะมีข้อมูลใหม่ๆ มาแย้งกฎดั้งเดิม)

แต่เรื่องเดียวกันนี้อาจถูกตีความและตั้งเป็นทฤษฎีได้อย่างหลากหลาย บางทฤษฎีก็เห็นชัดๆ ว่าผิดจนไม่น่าเชื่อว่าจะมีคนศรัทธา บางทฤษฎีดูเข้าท่าแต่ก็ยังต้องการหลักฐานเพิ่มเติมมายืนยัน ส่วนบางทฤษฎีก็ลงหลักปักฐานไว้อย่างแน่นหนาจนเหมือนว่าไม่มีทางล้มล้างได้

แม้ทฤษฎีเหล่านี้จะมีถูกบ้างผิดบ้าง แต่มันก็พยายามอย่างสุดซึ้งที่จะไขความสงสัยอันไม่มีที่สิ้นสุดของมนุษย์ว่าทำไม ทฤษฎีที่ไม่มีวันถูกก็อาจไม่ไร้ค่าเสียทีเดียวเพราะมันแสดงให้เห็นแนวคิดเบื้องหลังของผู้สร้างสรรค์ทฤษฎีเหล่านั้น และไม่แน่ว่าทฤษฎีเหล่านั้นอาจก่อให้เกิดกฎหรือทฤษฎีใหม่ๆ ที่ถูกต้องก็เป็นได้

ไม่ใช่ว่าการเก็บข้อมูลอย่างซื่อตรงโดยปราศจากอคติเพื่อค้นหากฎบางอย่างในธรรมชาติจะไม่ใช่สิ่งสำคัญ แต่ผมมีทฤษฎีว่าชีวิตที่ไม่ตั้งคำถามและครุ่นคิดหาคำตอบว่าทำไมก็เหมือนชีวิตที่ตายไปแล้ว ดังนั้นถ้ามีโอกาส ผมก็อยากชวนทุกคนมาทบทวนหรือสร้างทฤษฎีใหม่เพื่ออธิบายสิ่งต่างๆ กัน ไม่ใช่เพียงท่องจำคำตอบมาโดยไม่ไตร่ตรองว่าทฤษฎีนั้นถูกต้องครบถ้วนหรือไม่

neizod

author