ขำ-ไม่ขำ
อยู่ดีๆ ก็มานึกถึงเรื่องเล่นมุกขำ-ไม่ขำ อย่างมุกที่ค่อนข้างจะแพร่หลาย(มั้ง) ในฝั่งโปรแกรมเมอร์ที่ว่า
คุณภรรยาส่งสามีที่เป็นโปรแกรมเมอร์ไปซื้อขนมปังมาหนึ่งก้อน ถ้ามีไข่ก็เอามาโหลนึง
คุณสามีกลับมาพร้อมกับขนมปัง 12 ก้อน
ใครซักคนบนอินเตอร์เน็ต
ความขำของมุกนี้ก็คือว่าคำสั่งข้างต้นมันสามารถแปลออกมาเป็นการเขียนโปรแกรมได้ว่า
buy(bread, 1)
if store.have_eggs():
buy(bread, 12)
ซึ่ง … เอาจริงๆ เลยนะ แม่งไม่ขำแม้แต่นิดเดียวเลยหว่ะ
นั่นก็เพราะว่ามุกนี้พยายามเล่นกับความกำกวมของคำสั่ง “ถ้ามีไข่ก็เอามาโหลนึง” โดยไม่ได้ระบุว่าเอา อะไร มาโหลนึง ถ้าเป็นคนทั่วไปก็จะตีความว่าก็ต้องเอาไข่มาโหลนึงนั่นแหละ
แล้วทำไมโปรแกรมเมอร์มันถึงไม่ตีความแบบชาวบ้านทั่วไปหละวะ???
อย่างแรกเลยก็คือว่าถ้าคำสั่งมันกำกวมมากๆ ทำไมไม่ตอบกลับเป็น error ไปเลย (เพื่อให้อีกฝ่ายป้อนคำสั่งใหม่อีกรอบ)
หรือถ้าพยายามจะแก้ความกำกวมว่าต้องซื้ออะไรมาหนึ่งโหลกันแน่ แล้วทำไมถึงกระโดดกลับไปหาตัวแปรขนมปัง? ทั้งที่ตอนเช็คเงื่อนไขก็ใช้ตัวแปรไข่นี่หน่า มันจะสมเหตุสมผลกว่ามั้ยถ้าจะแปลคำสั่งภาษามนุษย์ออกมาเป็นโปรแกรมว่า
buy(bread, 1)
...
if store.have_eggs():
buy(eggs, 12)
อนึ่งถ้าอยากจะให้ซื้อขนมปังมา 1 หรือ 12 ก้อนด้วยการเช็คว่าร้านมีไข่ขายมั้ยจริงๆ โปรแกรมปลายทางที่อยากจะแปลงออกมามันควรอยู่ในรูปนี้หรือเปล่า
if store.have_eggs():
buy(bread, 12)
else:
buy(bread, 1)
ซึ่งแม่งก็ไม่ได้มีโครงสร้างอะไรให้ไปคล้ายคำสั่งข้างต้นเลยมั้ย
คือเห็นมุกนี้ทีไร รู้สึกได้เลยว่าคนเล่นมุกพยายาม force การเล่นมุกมากๆ จนอดสงสัยไม่ได้ว่าอันนี้คือมุกที่ออกมาจากโปรแกรมเมอร์จริงๆ เหรอ? หรือว่าเป็นมุกจากคนที่ไม่ได้รู้เรื่องการเขียนโปรแกรมอะไรเลย แต่เป็นภาพฉายของเขาเองว่าโปรแกรมเมอร์เป็นพวกพูดไม่รู้เรื่องตีความโลกจริงได้มั่วไปหมดแบบนี้???
พอมาเทียบกับมุกที่มัน ขำ จริงๆ อย่างเช่นว่า
โลกนี้มีคนอยู่ 10 ประเภท: คนที่รู้จักเลขฐานสอง กับคนที่ไม่รู้จัก
ใครอีกซักคนบนอินเตอร์เน็ต
เห็นได้เลยว่าระดับความฮาความนุ่มลึกต่างกันราวฟ้ากับเหว
เลยทำให้คิดได้ว่า การเล่นมุกเนี่ย น่าจะเป็นศิลปะที่ยากมากๆ จนไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถประดิษฐ์มุกที่ดีออกมาได้ โดยทั่วๆ ไปแล้วเราก็อาจสร้างมุกที่ตลกกันอยู่แค่ในกลุ่มเพื่อน แย่หน่อยก็อาจตลกเองคนเดียวโดยที่ไม่มีใครรู้เรื่องด้วย
นั่นก็อาจเป็นเพราะว่าในการสร้างมุกขึ้นมาซักอันนึง หลายคนอาจจะเน้นผิดจุดโดยไปให้ความสำคัญกับเรื่องเชิงเทคนิคมากเกินไป จนละเลยว่าองค์ประกอบของการเล่นมุกมันต้องมีคนฟังด้วย และอย่างน้อยๆ เราก็ควรต้องเข้าไปนั่งในใจคนฟังดูว่าเค้าจะตลกกับมุกนี้หรือเปล่า
การเล่นมุกจึงน่าจะเป็นหนึ่งในตัวบ่งชี้ความสามารถด้าน soft skill ได้ดีพอควรเลย
และถึงแม้ว่าคนส่วนใหญ่อาจจะไม่สามารถสร้างสรรค์มุกระดับตำนานขึ้นมาได้ แต่อย่างน้อยเวลาได้ยินมุกอะไรมา ก็ลองวิเคราะห์ดูซักหน่อยก่อนตัดสินใจส่งต่อมุกนั้นซ้ำ … ไม่งั้นเราก็จะมีแต่มุกไม่ขำทำให้บรรยากาศกร่อยวนเวียนเต็มไปหมด
Originally published on: Facebook
author