วงแหวนเว็บ

neizod's speculation

insufficient data for meaningful answer

กับดักของการแปะป้ายแยกประเภทให้ตนเอง

Wednesday, September 14, 2016, 04:31 PM

เชื่อว่าหลายต่อหลายคนคงต้องเคยผ่านประสบการณ์ช่วงวัยรุ่น ที่มักถามตัวเองอย่างสม่ำเสมอว่า “ฉันเป็นคนประเภทไหนกันแน่” “ฉันใช่คนกลุ่มนั้นหรือเปล่า” หรือกระทั่งว่า “ฉันน่าจะเป็นโรคนั้นหวะ” เช่น บางคนอาจสับสนว่าตัวเองเป็นฮิปสเตอร์? เป็นคนโรแมนติก? เป็นคนเก็บตัว? เป็นอนุรักษ์นิยม? เป็นไฮโซสุดหรู? เป็นไบโพล่าร์?

และก็คงมีคนไม่น้อยเลย ที่พยายามไขข้อสงสัยเหล่านี้ด้วยการหาแบบทดสอบต่างๆ มาทำด้วยตัวเอง

ซึ่งก็โอเค การสงสัยในตัวเองและพยายามหาคำตอบแบบนี้มันไม่ได้ผิดอะไร หนำซ้ำถ้าใช้ผลลัพธ์คำแนะนำที่ได้อย่างชาญฉลาดก็สามารถช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้นอีกเป็นกอง เพราะอย่างน้อยเราก็เหมือนมองเห็นอนาคตลางๆ แล้วว่าอาจต้องพบเจอกับอุปสรรคอะไรบ้าง ควรรับมือปัญหาต่างๆ แบบไหน อะไรคือสิ่งที่ควรลงทุนลงแรงให้ความสำคัญ

แต่ข้อควรระวังก็คือความเป็น stereotype จากผลลัพธ์ที่ได้ เพราะผลลัพธ์เหล่านั้นมักเกิดจากการนำข้อมูลของคนจำนวนมากที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มเดียวกัน แล้วคัดกรองสรุปหาแต่สิ่งที่มีความคล้ายกันมากๆ มานำเสนอ ข้อแนะนำบางอย่างสำหรับคนกลุ่มนั้นก็อาจไม่ใช่ข้อแนะนำที่ดีสำหรับทุกคนในกลุ่มก็ได้


ถึงตอนนี้ถ้าใครเคยผ่านหูผ่านตากับภาพยนต์เรื่อง Star Trek มาบ้าง ก็คงคุ้นหน้าคุ้นตากับตัวละครเอกที่ชื่อ Spock ซึ่งเป็นมนุษย์ต่างดาวชาว Vulcan โดยเผ่าพันธุ์นี้มีวัฒนธรรมบูชาตรรกะเหตุผลและตัดอารมณ์ทิ้งไป

แต่ถ้าใครเป็นแฟนหนังตัวยงแล้ว คงจำได้ว่า Spock นั้นไม่ได้มีสายเลือด Vulcan ทั้งหมดเสียทีเดียว เพราะว่าแม่ของเขาเป็นมนุษย์โลกเนี่ยแหละ

อย่างไรก็ตาม Spock นั้นเกิดและเติบโตบนดาว Vulcan จึงไม่แปลกเลยที่เขาจะสงสัยว่าตัวเองเป็นพวกเดียวกันกับเพื่อนร่วมดาวหรือไม่ เพราะบางครั้งเขาก็ใช้อารมณ์เหนือเหตุผล ใช้กำลังแก้ปัญหา ต่างไปจากวิถีของชาว Vulcan

แต่จะจัดตัวเองเป็นชาวโลกก็ไม่ได้อีก เพราะหน้าตาไม่ให้ แถมระดับการใช้เหตุผล-ไม่ใช้อารมณ์ก็ยังผิดแปลกไปจากมนุษย์โลก

จะเห็นได้ว่า ในวัยเด็ก Spock รู้สึกขัดแย้งกับการพยายามจัดกลุ่มให้กับตนเองมาก เนื่องจากตรรกะไม่ลงตัว


ความขัดแย้งแบบนี้ อาจทำให้ติดกับดักของการพยายามจัดกลุ่มตัวเองแต่ทำไม่ได้ จนสุดท้ายก็กลายเป็นรู้สึกแปลกแยกโดดเดี่ยวไม่เข้าพวก จะหันไปทางซ้ายก็ไม่ใช่ ทางขวาก็ไม่ชอบ กลายเป็นคนหลงทางขาดสิ่งยึดเหนี่ยวและคำแนะนำ

หรือยิ่งไปกว่านั้น บางคนอาจยอมสละตัวตนบางด้านทิ้งไป หรือพัฒนาลักษณะนิสัยใหม่ขึ้นมาตามตัวอย่างที่พบ เพื่อที่จะสามารถจัดตัวเองไว้ในในกลุ่มนั้นๆ ได้อย่างสมบูรณ์

ทั้งที่พวกเขาหลงลืมไปว่า เกณฑ์การจัดกลุ่มและคำแนะนำเหล่านั้นต่างขีดขึ้นมาสำหรับ “ภาพตัวตน” ของ “ตัวแทนกลุ่มในโลกอุดมคติ” ซึ่งแตกต่างไปจากโลกความเป็นจริงอยู่ไม่น้อย

มันจะดีกว่ามั้ย ถ้าเรายอมรับกับตัวเองตรงๆ ว่าเวลาส่วนใหญ่เราอาจเป็นคนแบบกลุ่มนั้น แต่มันก็มีบ้างบางเวลาที่เราไม่ได้เป็น และหัดเลือกใช้คำแนะนำสำหรับคนในกลุ่มอย่างเหมาะสม

หรือถ้าเบื่อกับดักเหล่านี้เต็มที เราอาจะเลิกจัดกลุ่มให้กับตัวเองเลยก็ได้ เพราะเราก็เป็นเราแบบนี้ เราไม่เหมือนใคร ไม่มีใครเหมือน ไม่มีใครมาแทนที่ได้ เรามีความซับซ้อนมากเกินกว่าจะจัดกลุ่มด้วยแนวคิด stereotype แบบนั้น (ส่วนใครจะมองเข้ามาแล้วจัดกลุ่มให้เราเป็นแบบไหนก็ปล่อยเขาไป และเขาอาจจะต้องประหลาดใจภายหลังเมื่อเราไม่ได้เป็นอย่างที่เค้าคิดไว้เลย)

เพราะสุดท้าย มีแต่เราเท่านั้นแหละที่ต้องอยู่กับตัวเองไปตลอด และมันก็เป็นความรับผิดชอบที่ต้องรู้จักตัวเองให้ดีที่สุด ไม่ใช่ฟังคำแนะนำอย่างผิวเผินจากกลุ่มที่เราคิดว่านั่นคือตัวตน

neizod

author