โอ โชคชะตา
O Fortuna เป็นกลอนที่ดังที่สุดจากบทกวี Carmina Burana ที่เล่นเรื่องเซ็กซ์ สิ่งเสพติด การพนัน และกิเลสตัณหาทั้งหลายของมนุษย์ บทกวีดังกล่าวถูกประพันธ์โดยคณะนักบวช Goliard ในช่วงศตวรรษที่ 11-13 เนื้อเรื่องส่วนใหญ่เขียนในภาษาละติน (อย่าลืมว่าศาสนาก็เป็นแขนงหนึ่งของแวดวงวิชาการ จึงต้องใช้ภาษากลางเพื่อสื่อสารทั่วยุโรปในยุคนั้น) โดยน่าจะมีจำนวนไม่ต่ำกว่าสองร้อยบท แม้บทกวีดังกล่าวจะถูกเรียบเรียงมานานแล้ว แต่มันก็เพิ่งถูกค้นพบอย่างเป็นระบบในปี 1803 ณ อารามของคณะเบเนดิกตินทางตอนใต้ของแคว้นบาวาเรีย หลังจากนั้นก็ถูกย้ายไปเก็บรักษาที่หอสมุดเมืองมิวนิกให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาสืบไป
ภาพกงล้อแห่งโชคชะตา บนหน้าปกของบทกวี Carmina Burana
โดยบุคคลที่เรียกได้ว่าชุบชีวิตให้บทกวีดังกล่าวให้โด่งดัง คงหนีไม่พ้น Carl Orff ชาวมิวนิกผู้เกิดร่วมร้อยปีให้หลังการค้นพบครั้งสำคัญดังกล่าว ที่ได้คัดสรรบทกวีจำนวน 24 บทมาเรียบเรียงใส่ทำนองเป็นบทเพลงในปี 1935-1936 โดยทั้งขึ้นต้นและทิ้งท้ายอัลบัมนี้ด้วยเพลง O Fortuna อันทรงพลัง ที่กล่าวตัดพ้อน้อยใจในโชคชะตาที่มักเล่นตลกกับชีวิตเราทุกคนนั่นเอง
และด้วยความมีเอกลักษณ์ของเพลงบทดังกล่าวจนพาให้มันทะลุจากวงการเพลงคลาสสิกออกมาโลดแล่นบนวัฒนธรรมป๊อปอยู่บ่อยครั้ง ก็ทำให้เราเคยผ่านหูผ่านตากับการแปลเพลงนี้ไปยังภาษาต่างๆ อยู่บ้าง แต่ก็ไม่เคยเจอคำแปลภาษาไทยที่ถูกใจซักที ซึ่งอาจเป็นเพราะความพยายามแปลแบบคงความหมายให้ครบถ้วน โดยเสียสละความสอดประสานกับท่วงทำนองทิ้งไป … อย่ากระนั้นเลย มาลองแปลมันให้ลงสัมผัส1จังหวะอันทรงพลัง โดยพยามคงเนื้อหาให้ไม่หลุดจากต้นฉบับไปไกลซักรอบกันเถอะ!
เฉกเช่นจันทรา
แปรผันหมุนเวียนเป็นวงกลม
ข้างขึ้นเฉิดฉาย
ข้างแรมเหือดหาย
ชีวิตยากแค้นแสนระทม
ข่มเหงกดขี่
แล้วจึงปราณี
ปั่นหัวหลอกกันฝันมลาย
อดอยากยากไร้
อำนาจกว้างไกล
ก็แค่น้ำแข็งย่อมละลาย
อาจไร้ราคา
หมุนวนดังกงล้อเรื่อยไป
ภยันตราย
สุขสมนอกกาย
สุดท้ายไม่เหลือแม้นสิ่งใด
เงามืดคืบคลาน
ปกคลุมไพศาล
กัดกลืนตัวตนและลุกลาม
ตาชั่งเอนเอียง
เราเหลือแค่เสียง
สู้รบตบมือความเลวทราม
โรคภัยรุมเร้า
กัดกร่อนไปจนถึงวิญญาณ
ลุกขึ้นเดินต่อ
แม้กายใจฝ่อ
จองจำตกเป็นทาสชั่วกาล
และ ณ บัดนี้
อย่าได้รอรี
ดีดใยให้สั่นสะเทือนฟ้า
ชะตาลงทัณฑ์
ไม่ว่าเธอฉัน
ขอเชิญผองเราเศร้าโศกา
ในยามวิกฤติเช่นนี้ ก็ขอวอนโชคชะตาโปรดส่งรอยยิ้มกลับมา ให้ทุกท่านปลอดภัยและลืมตาอ้าปากได้ครับ 🙏
-
ไม่ได้มีความรู้ในโคลงฉันท์กาพย์กลอนฝั่งตะวันตกมาก่อน แต่เท่าที่สังเกตจากบทกวีข้างต้น กฎเสียงสัมผัสน่าจะสรุปได้ว่า แต่ละบทมี 4 วรรค แต่ละวรรคมี 4-4-7 พยางค์ โดยในทุกวรรคพยางค์ที่ 4 กับ 8 คล้องเสียงกัน และทุกบทพยางค์สุดท้ายของวรรคทั้งสี่คล้องเสียงกันเป็นคู่แรกกับคู่หลัง … ถ้าใครทราบกฎเพิ่มเติมก็แวะมาบอกด้วยนะ ↩
author