วงแหวนเว็บ

neizod's speculation

insufficient data for meaningful answer

ความรู้แบบคนขับรถ

Wednesday, March 23, 2022, 04:25 AM

ส่วนตัวเคยได้ยินมุกเชิง “ให้คนขับรถเลคเชอร์แทน” มานานมากแล้ว มีหลายเวอร์ชันด้วย เวอร์ชันที่เคยฟังแล้วพิสดารที่สุดนี่ถึงขั้นบอกว่าศาตราจารย์เหนื่อยมากจนขอหลับรอในรถ ส่วนฝั่งคนขับที่ขึ้นเลคเชอร์แทนนั้น เมื่อเจอคนฟังยกมือถามคำถามที่ยากเกินกว่าจะตอบได้ เขาเลยหาทางแก้ตัวด้วยการบ่ายเบี่ยงว่า “คำถามง่ายนี้มาก เดี๋ยวไปปลุกคนขับรถมาตอบให้”

โพสต้นทางที่เล่าเรื่องดังกล่าวได้อย่างออกรสออกชาติประหนึ่งว่าอยู่ในเหตุการณ์เลคเชอร์ครั้งนั้น

แน่นอนว่าในเวอร์ชันก่อนๆ ที่เคยฟังมา ไม่เคยมีชื่อของศาตราจารย์โผล่เข้ามาเลย และคนที่เคยได้ยินได้ฟังเรื่องประมาณนี้ก็คงเข้าใจว่าเป็นเรื่องแต่งขำๆ ไว้เล่าเป็นมุกแก้เบื่อ (และแทรกคำสอนเรื่องการไม่รู้จริง)

แต่พอเจอเวอร์ชันใหม่ๆ เหมือนว่าคนเล่าพยายามเพิ่มความน่าเชื่อถือของเรื่อง (ทำไปทำไม?) ด้วยการอ้างถึงนักวิทยาศาสตร์ที่มีตัวตนจริงๆ ว่าคือ Max Planck ผู้ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลในปี 1918 โดยระบุเจาะจงรายละเอียดลงไปถึงขั้นที่ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวนั้นเกิดหลังจากที่เค้าได้รับรางวัล โดยเป็นการเลคเชอร์ ณ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในเมืองมิวนิคเลยทีเดียว!

ฟังถึงตรงนี้ก็น่าจะเริ่มเอ๊ะแล้ว เพราะมีหลายต่อหลายอย่างที่ไม่ชอบมาพากล

  1. คนขับรถเข้าไปฟังเลคเชอร์ทำไมแต่แรก? เปลี่ยนไปเล่าว่าคนที่เสนอตัวเลคเชอร์แทนคือลูกศิษย์ยังจะน่าเชื่อถือกว่านี้

  2. การเลคเชอร์มันไม่ใช่ (และไม่เคยใช่) การสื่อสารทางเดียว ผู้พูดนั้นรู้ตัวอยู่แล้วว่าจะต้องเจอกับคำถามสดๆ จากผู้ฟังในแต่ละรอบที่แตกต่างกันอย่างแน่นอน

  3. จากเรื่องเล่าคือเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ Planck ได้รับรางวัล แปลว่าอย่างน้อยเขาก็ต้องมีชื่อเสียงในแวดวงพอตัว คนที่เชิญให้ไปพูดจะถึงขั้นแยกตัวจริงกับตัวปลอมไม่ออกเลยเหรอ?

  4. ไม่เคยมีหลักฐานจากนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ ในวงการเลยว่าเคยมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นจริง (ทั้งที่พฤติกรรมร่วมของนักวิทยาศาสตร์คือการจดบันทึก ยิ่งเหตุการณ์แปลกประหลาดแบบนี้ยิ่งควรมีหลักฐานทิ้งไว้บ้าง)

หลังจากขุดค้นไปได้อีกพักนึง กลับกลายเป็นว่าเรื่องเล่าเรื่องนี้มักถูกเล่าอยู่ในแวดวงไลฟ์โค้ชต่างหาก ไม่ได้เป็นเรื่องเล่าในแวดวงนักวิทยาศาสตร์ด้วยซ้ำ (ไม่เหมือนกรณีบารอมิเตอร์ของ Bohr ที่ตัวเราเองมักได้ยินจากเพื่อนนักวิทยาศาสตร์บ่อยๆ – แต่เรื่องนั้นก็เป็นเรื่องแต่งเหมือนกันนะ)

โดยตัวตั้งตัวตีของการเล่าเรื่องคนขับรถไปขอเลคเชอร์แทนศาตราจารย์นี้คือ Charlie Munger ซึ่งเป็นพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจของ Warren Buffett โดยมีหลักฐานชัดเจนที่สุดคือปาฐกถาแด่นิติศาสตรบัณฑิตที่ USC เมื่อปี 2007 ที่น่าจะทิ้งข้อคิดให้แก่ใครหลายคน จน Rulf Dobelli ต้องหยิบยืมเรื่องดังกล่าวมาเล่าซ้ำในหนังสือ The Art of Thinking Clearly ที่ออกในปี 2014 เลยทีเดียว

แต่เรื่องเล่าที่ดีนั้นมักถูกนำมาเล่าซ้ำอยู่บ่อยครั้ง และ Tim O’Reilly (เจ้าของสำนักพิมพ์หนังสือคอมพิวเตอร์ที่ชอบใช้หน้าปกเป็นรูปสัตว์นั่นแหละ) ก็เคยได้รับฟังเรื่องราวดังกล่าวมาเช่นกันตั้งแต่ปี 2005 โดยครั้งนั้น ตัว Charlie Munger เองไม่เพียงแต่อ้างอิงถึงเรื่องดังกล่าวว่าเป็นมุกขำขัน แต่ถึงขั้นใช้คำเรียกมันว่า “apocryphal story” ก็คือขนาดเจ้าตัวต้นทางคนเล่าเรื่องนี้เองยังไม่คิดว่ามันจะเป็นเรื่องจริงเลย

ยิ่งไปกว่านี้ เรื่องเล่าแนว “คนขับรถไปเลคเชอร์แทนศาสตราจารย์” เป๊ะๆ แบบนี้ ยังเคยถูกใส่สีตีไข่ด้วยชื่อนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ อีกด้วย ชื่อหนึ่งในนั้นที่ดังที่สุดน่าจะหนีไม่พ้น Albert Einstein และก็มีการขุดค้นลงไปเช่นกันว่าเรื่องนั้นก็ไม่ได้มีเศษเสี้ยวของความจริงแต่อย่างใด


ก็น่าจะเป็นอย่างว่า คนที่รู้เรื่องเล่าต่างๆ อย่างผิวเผินแล้วจดจำนำมาเล่าซ้ำ (แถมพิเศษใส่ไข่) ทำตัวเป็นไลฟ์โค้ชนั้นมีมากมายจริงๆ มากเสียจนไลฟ์โค้ชด้วยกันเองยังโดนหลอกในหลอก น่าจะนับว่าเป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยมของ “ความรู้แบบคนขับรถ (chauffeur knowledge)” เลยแหละ เนอะ

Originally published on: Facebook

Revision notes:

  • March 23, 2022:

    เพิ่มเรื่อง Einstein จากคอมเมนต์คุณ Chanon Ariyaprakai

neizod

author