วงแหวนเว็บ

neizod's speculation

insufficient data for meaningful answer

กาดสวนแก้ว

Thursday, June 30, 2022, 11:12 PM

ด้วยความที่เกิดและเติบโตมากับเชียงใหม่ร่วมสามทศวรรษ การที่กาดสวนแก้วจะปิดให้บริการก็เป็นอะไรที่ทำให้ใจหายพอสมควร ก็ขอบันทึกเศษเสี้ยวของความทรงจำกับสถานที่อันแสนผูกพัน เผื่อว่าจะหลงลืมกันได้ช้าลงแม้นวันเวลาจะล่วงเลยไป

แผนผังอาคารโดยคร่าวจากความทรงจำ พร้อมตัวเลขกำกับตำแหน่งภาพถ่ายแต่ละภาพ

กาดสวนแก้วเป็นห้างที่แปลก คือแม้มันจะมีชื่อห้อยว่าเซ็นทรัลก็ตามที แต่โครงสร้างอาคารนั้นไม่ได้เป็นไปตามแบบแผนของเซ็นทรัลเลย1 นั่นก็เป็นเพราะว่าเซ็นทรัลเป็นเพียงแค่ปีกหนึ่งของห้างแห่งนี้เท่านั้น2 โดยอุทยานการค้ากาดสวนแก้วนั้นถูกออกแบบมาคล้ายกับจะเป็นทรงแปดเหลี่ยมที่เจาะรูตรงกลางไว้ให้เป็นสวนสีเขียว3 ด้วยขนาดห้างที่กินพื้นที่เกือบสามแสนตารางเมตร จึงทำให้มีร้านรวงต่างๆ มากมาย รวมไปถึงโรงละครและโรงแรมอีกด้วย

ภาพที่ 1 (มิถุนายน 2022) ป้ายคำขวัญทางเข้าห้างชั้น G ที่ประดับด้วยภาพนูนต่ำอนุสาวรีย์โอวาแป๊ะ และข้อความอวยพร “เขตเมืองนี้ดีจริง ฅนไหนมีเงินพันมาอยู่ จะได้เงินหมื่น ครั้นมีเงินหมื่นมาอยู่ จะมีเงินแสน” จากพ่อขุนรามคำแหง

แต่สิ่งที่แตกต่างจากห้างอื่นอย่างสำคัญมาตั้งแต่สมัยก่อน คงหนีไม่พ้นความเป็นคอมมูนิตี้มอลล์ที่มาก่อนกาล เพราะห้องเช่าแต่ละล็อคในศูนย์การค้าแห่งนี้มักไม่ใช่แบรนด์ดังระดับโลก แต่เป็นแบรนด์ท้องถิ่นจากคนในท้องที่4 ไม่ว่าจะเป็นร้านรองเท้าเจ้าใหญ่ของจังหวัด ร้านการ์ตูนที่เจ้าของชนะแฟนพันธ์แท้ ร้านกีตาร์ที่เปิดมากว่ายี่สิบปี ร้านอาหารเจ้าดังที่ต้องต่อคิวเป็นชั่วโมง ไปจนถึงชมรมหมากล้อมประจำจังหวัดเชียงใหม่ที่เราเคยอยู่ จึงไม่แปลกใจที่คนในละแวกนี้จะรู้สึกผูกพันกับสถานที่ดังกล่าวอย่างสุดซึ้ง

ภาพที่ 2 (มิถุนายน 2014) ช.สเต็ก ชั้น 2 ร้านอาหารชื่อดังที่ลูกค้ามักต้องต่อคิวรอกันนานเป็นชั่วโมงกว่าจะได้กิน ปัจจุบันร้านขยายเพิ่มที่นั่งไปยังล็อคข้างๆ ทำให้ไม่ต้องรอคิวนานอีกต่อไป (จนกระทั่งช่วงปิดห้างที่ทุกคนกลับมารอคิวกันข้ามวัน)

ภาพที่ 3 (ตุลาคม 2013) ร้านการ์ตูนไดโอราม่าชั้น 3 และคุณโจ้เจ้าของร้านผู้ชนะแฟนพันธุ์แท้ขบวนการห้าสีในเทปวันที่ 19 พฤษภาคม 2006

ภาพที่ 4 (มิถุนายน 2022) ร้านเพื่อนนักกีตาร์ชั้น 2 ร้านเครื่องดนตรีที่เปิดให้บริการมากว่ายี่สิบปี

ภาพที่ 5 (สิงหาคม 2019) ห้องสมุดประชาชนชั้น 3 ซึ่งเปิดบริการให้บุคคลทั่วไปมานั่งพักผ่อนอ่านหนังสือ/ทำงาน/เล่นบอร์ดเกมได้อย่างอิสระ

ภาพที่ 6 (พฤษภาคม 2013) ลวดลายตกแต่งโรงภาพยนต์ Vista ชั้น 4 ซึ่งต่อมาโรงภาพยนต์ได้เลิกกิจการก่อนจะเปลี่ยนมือไปเป็นแบรนด์ Major Cineplex

ภาพที่ 7 (มิถุนายน 2014) ลานหน้าร้านคาราโอเกะ Sing-a-Long ชั้น 5 ที่ห้องร้องเพลงต่างๆ ถูกตกแต่งสไตล์แฟนตาซีแตกต่างกันออกไป จึงทำให้เป็นที่ถูกใจของเหล่าวัยรุ่น และเคยถูกใช้ประกอบฉากภาพยนต์ปิดเทอมใหญ่หัวใจว้าวุ่นอีกด้วย

ภาพที่ 8 (มิถุนายน 2022) ลานหน้าบันไดเลื่อนชั้น 3 ก่อนขึ้นไปชั้นโรงภาพยนต์ ซึ่งติดตั้งกระจกเงาหลายบานไว้เพื่อเป็นลานอเนกประสงค์สาธารณะสำหรับผู้สนใจการเต้นโคฟเวอร์ได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม ร้านแบรนด์ต่างๆ ก็ไม่ได้ถึงขั้นไม่ย่างกรายมาเปิดบริการซะทีเดียว เพียงแต่ส่วนใหญ่จะไม่ใช่ร้านแฟชันราคาแพง แต่จะเป็นแนวร้านอาหารเชนเสียมากกว่า เช่น Starbucks ที่ยึดพื้นที่หน้าห้างด้วยตัวอาคารเล็กๆ ที่แยกออกมาเลย Sizzler ที่ได้ทำเลดีไม่ห่างออกไป ลงไปชั้นล่างเป็น KFC หรือขึ้นไปชั้นบนก็เป็น Swensen’s และ Pizza Hut ทั้งหมดนี้ล้วนจองทำเลวิวดีที่สามารถมองออกไปยังถนนหลักได้ (ที่แปลกคือไม่มี MK ต้องข้ามถนนไปกินฝั่งตรงข้าม) ส่วนร้านอื่นๆ ที่ไม่ใช่ของกินก็อย่างเช่นรีเซลเลอร์สินค้า Apple

ภาพที่ 9 (พฤษภาคม 2013) วิวจากร้าน Sizzler ชั้น G ที่เมื่อมองออกไปจะเห็นถนนห้วยแก้วและทางเข้าใต้อาคารสำหรับรถยนต์ ร้าน KFC ที่ชั้นลอย ร้าน Starbucks ที่เป็นตึกแยก และลานค้าขายกลางแจ้ง โดยร้านสเต็กสาขานี้คือร้านอาหารร้านแรกที่เราพาแม่มากินหลังได้รับเงินเดือนเป็นครั้งแรก

ภาพที่ 10 (มกราคม 2018) บรรยากาศหน้าร้าน I Like Ice cream ชั้น 2 ซึ่งมาแทนที่ Swensen’s ทางซ้ายเคยเป็น Pizza Hut ที่เปลี่ยนเป็น Pizza Company ไปแล้วรอบหนึ่ง แต่ก็ยังไม่รอดกลายเป็นล็อคว่างในที่สุด ส่วนฝั่งตรงข้ามด้านขวา (นอกภาพ) คือร้านช.สเต็กอันโด่งดังนั่นเอง

ภาพที่ 11 (มิถุนายน 2022) ร้านหนังสือและเครื่องเขียน B2S ชั้น 3 ภายในปีกฝั่งเซ็นทรัลเอาท์เล็ต สถานที่ที่เรามักเอาเวลามาทิ้งเป็นชั่วโมงเมื่อแวะมายังห้างแห่งนี้ ส่วนทางด้านซ้าย (นอกภาพ) เป็นโซนของเล่นหลากหลายแบรด์ที่เซ็นทรัลนำเข้า ที่ซึ่งเราได้รับ Lego ชิ้นแรกในช่วงกลาง 1990s เพราะทำข้อสอบได้คะแนนดี

เชียงใหม่นั้นแม้จะเป็นจังหวัดขนาดใหญ่อันดับต้นๆ ทั้งด้านพื้นที่และประชากรของประเทศ แต่ตัวเมืองกลับมีขนาดเล็กกว่าที่คิด โดยประชากรเกือบครึ่งของจังหวัดนั้นได้กระจายอยู่ตามอำเภอรอบนอกที่ห่างไกลที่โดนสับหว่างด้วยภูผาและยอดดอย ส่วนในเขตเมืองและอำเภอข้างเคียงจริงๆ นั้นกลับเป็นการเติบโตขยายออกตามแนวราบ (ตามข้อกำหนดผังเมือง ซึ่งอาจเป็นเพราะการมีสนามบินในตัวเมือง ถนนหลายสายที่คับแคบ และการอนุรักษ์ทัศนียภาพย่านเมืองเก่า) กาดสวนแก้วนั้นแม้จะมีทำเลดีที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง แต่ในย่านดังกล่าวก็มีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่อย่างโรบินสันแอร์พอร์ตอยู่ด้วย แม้สมัยก่อนทั้งสองห้างจะคึกคักพอกัน (ก็เพราะมีเพียงแค่สองห้าง) แต่เมื่อเมืองขยายออกไปและมีห้างใหญ่ผุดขึ้นตามรอบนอก ทั้งห้างแบบไฮเปอร์เปอร์มาเก็ตอย่างโลตัส คาร์ฟูร์ โอชอง หรือห้างสรรพสินค้าทั่วไปอย่างเซ็นทรัลเฟสติวัล เมญ่า พรอมเมนาดา เมื่อมองดูภาพรวมเทียบกับสภาพเมืองเชียงใหม่แล้ว ก็ไม่ยากจะคาดเดาว่าจะต้องมีผู้เล่นที่พับเสื่อกลับบ้านไปในเร็ววัน

ภาพที่ 12 (มิถุนายน 2022) บันไดเลื่อนจากชั้น B ขึ้นชั้น G โซนที่ให้บรรยากาศแบบคอมมูนิตี้มอลล์เพราะเคยคึกคักมีร้านค้ามากมาย ตั้งแต่ร้านสักลาย ร้านเครื่องเสียง ร้านโมเดลเครื่องบิน ไปจนถึงโรงพิมพ์ขนาดย่อมๆ

ภาพที่ 13 (มิถุนายน 2022) ทางลงชั้น B ที่เชื่อมมาจากถนนห้วยแก้วหน้าห้าง ซึ่งเป็นทางไปสู่ร้าน KFC และ Tops มุมยอดนิยมสำหรับการถ่ายรูป (แต่เค้าถ่ายจากข้างนอกลงมาข้างในกันนะ)

ภาพที่ 14 (มิถุนายน 2022) กระจกสีหน้าห้างชั้น 4 ใกล้เคียงกับบู๊ทขายตั๋วโรงภาพยนต์ที่อยู่ ณ ชั้นเดียวกัน

ภาพที่ 15 (มิถุนายน 2022) ประตูยักษ์ชั้น 4 และชั้น 5 สำหรับยกสิ่งของชิ้นใหญ่อย่างแกรนด์เปียโนหรือรถยนต์เข้ามายังโรงละคร ซึ่งนอกจากจะเป็นโรงละครอเนกประสงค์ที่เราแวะไปฟังดนตรีคลาสสิกจากวงดุริยางค์เยาวชน CPO บ่อยๆ แล้ว ยังเป็นโรงละครที่เราเคยขึ้นแสดงเนื่องในโอกาสครบรอบ 120 ปีโรงเรียนชายวังสิงห์คำอีกด้วย

ภาพที่ 16 (มิถุนายน 2022) รีเซฟชั้น 4 ที่เชื่อมไปยังปีกโรงแรมเหนืออาคารจอดรถ (ลิฟต์มีแต่เลขสูงๆ สำหรับขึ้นไปบริเวณโรงแรมได้อย่างเดียว ลงไปชั้นลาดจอดรถไม่ได้ – เพราะเคยหลงมาก่อนแล้ว 5555)

ภาพที่ 17 (มิถุนายน 2022) ร้านตู้เกมชั้น 3 ฝั่งไกลของอาคาร ซึ่งเคยมีชมรมหมากล้อมอยู่บริเวณใกล้เคียงกัน

ภาพที่ 18 (มิถุนายน 2022) สวนสีเขียวใจกลางอาคาร พื้นที่อเนกประสงค์สำหรับจัดกิจกรรมกลางแจ้ง

ภาพที่ 19 (มิถุนายน 2013) วิวยามพลบค่ำจากสวนกลางแจ้ง

ซักวันหนึ่งความทรงจำนี้ก็จะลางหายไปเช่นกัน แล้วเราจะได้พบกันใหม่อีกครั้ง

จนกว่าจะถึงวันนั้น

  1. ทรงตรงยาว (อาจมีหักงอบ้าง) ปลายข้างหนึ่งเป็นเอาท์เล็ต/โรงหนัง/ร้านหนังสือ ถัดมาตรงกลางยาวๆ จะเป็นล็อคสำหรับแบรนด์ ไล่ไปจนสุดปลายอีกข้างจะพบธนาคาร/ซุปเปอร์มาร์เก็ต 

  2. อารมณ์ประมาณห้างเซ็นทรัลเวิลด์ที่มีห้างอิเซตันซ้อนอยู่ข้างในอีกที 

  3. ลองนึกถึงกลุ่มอาคารหนึ่งบล็อกของเมืองบาเซโลน่า 

  4. ชวนให้นึกถึงร้านค้าอันแสนหลากหลายจนยากจะคาดเดาในชั้นใต้ดินของห้างฟอร์จูนกันเลยทีเดียว 

neizod

author