วงแหวนเว็บ

neizod's speculation

insufficient data for meaningful answer

นักสื่อสารวิทยาศาสตร์

Sunday, October 16, 2022, 02:02 PM

ผมรู้ตัวดีว่าเป็นคนพลังลบเยอะ หลายครั้งเลยเลือกที่จะเงียบและช่างแม่งอยู่บ่อยๆ เพื่อจะได้ไม่ไปสร้างศัตรูโดยใช่เหตุ ส่วนครั้งอื่นๆ ที่เหลือก็พยายามจะเปลี่ยนพลังลบให้เป็นพลังบวก … แต่ทำไม๊ทำไมก็ไม่รู้ มันถึงกลายเป็นพลังบวก(หน้า)ไปซะได้ 55555555TT555

ดังนั้นถ้าผมเคยได้ไป “หักหน้า” หรือทำให้ใคร “สูญเสียความมั่นใจ” ด้วยการโต้แย้งผ่านหลักฐานหรือทฤษฎีวิทยาศาสตร์ ก็ต้องขอกราบขออภัยมาอย่างสูงด้วยใจจริง ณ ที่นี้

และผมก็จะขอพูดเรื่องนี้เป็นครั้งสุดท้าย (หวังว่านะ) หมดโพสต์นี้จะได้เอาสมองไปโฟกัสกับงานวิจัยแล้ว


อาชีพนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ฟังดูอาจเหมือนเป็นอาชีพใหม่ในไทย แต่จริงๆ แล้วคนเลือกทำอาชีพแนวนี้ก็มีมาอย่างเนิ่นนาน เพียงแต่เขาเหล่านั้นอาจซ่อนตัวอยู่หลังฉากภายใต้อาชีพอื่นๆ เช่น นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ นักแปลซับไตเติลสารคดีท่องโลก ครูสอนพิเศษที่ไม่ได้สอนเพียงแค่ทริกตะลุยโจทย์ หรือถ้าจะเอาแบบปัจจุบันหน่อยก็คือเหล่ายูทูปเบอร์นักเล่าเรื่องระหว่างเราล้างจาน

การจะเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ได้นี่น่านับถือมากๆ เลยนะ เพราะนอกจากจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องราววิทยาศาสตร์เป็นอย่างดี สามารถที่จะถ่ายถอดเรื่องราวดังกล่าวได้อย่างไม่สูญเสียหัวใจสำคัญ ก็ยังต้องมีวาทศิลป์อันเยี่ยมยอดจนสะกดคนฟังเกิดความอยากรู้อยากเห็น และเก็บเกี่ยวเรื่องราวดังกล่าวไปขบคิดต่ออย่างเป็นระบบระเบียบทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย

น่าเสียดายว่านักสื่อสารวิทยาศาสตร์ในไทยที่ผมเคยพบเจอ ดูจะมีความเชี่ยวชาญเพียงแค่ด้านวาทศิลป์เพียงเท่านั้น

ยิ่งไปกว่านั้น เหล่าคนที่เรียกตัวเองว่า “นักสื่อสารวิทยาศาสตร์” บางคน กลับไม่ยอมรับการถกเถียงหรือเพียงแต่ฟังข้อมูลจาก “นักวิทยาศาสตร์” ตัวจริง นักสื่อสารฯ บางรายถึงขั้นกดบล็อคและลบคอมเมนต์ที่มาช่วยเสริมข้อมูลให้แม่นยำยิ่งขึ้นไปอีกกันเลยทีเดียว

โอเค … เอาจริงๆ ก็กระดากปากอยู่ไม่น้อยที่ผมเรียกตัวเองว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ ส่วนหนึ่งก็อาจจะมาจากการที่ยังไม่จบ Ph.D. แต่หลักๆ เลยคงเป็นความรู้สึกที่ว่า เหล่าไอดอลนักวิทยาศาสตร์ของผมนั้นช่างอยู่สูงชั้นห่างไกลจากระดับพลังของผมไปหลายตลบ

แต่ก็ลองคิดดูสิ ถ้านักสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่ควรจะเป็นกาวเชื่อมระหว่างนักวิทยาศาสตร์กับคนทั่วไปให้เข้าใจกันและมีเจตคติต่อวิทยาศาสตร์ที่ดียิ่งขึ้นไป (ใช่ ผมรู้ตัวว่าผมอธิบายเรื่องวิทยาศาสตร์ได้ห่วยแตกมากๆ เพราะชอบลงลึกทางเทคนิคจนคนทั่วไปติดตามไม่ทัน) แต่ถ้านักสื่อสารฯ เหล่านั้นกลับทำตัวเป็นศัตรูกับนักวิทยาศาสตร์เสียเอง มันจะเกิดอะไรขึ้นหละ?

ทำอย่างนี้มันต่างอะไรกับการมองวิทยาศาสตร์ประหนึ่งศาสนา? มองทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ว่าเป็นความจริงสูงสุดที่แตะต้องเปลี่ยนแปลงไม่ได้? — ผมอาจจะ slippery slope ไปหน่อย แต่เคยสงสัยมั้ยหละว่าทำไมเหล่า flat-earther ถึงได้ปักใจเชื่อใน pseudoscience เรื่องโลกแบนกันขนาดนั้น?

ผมจะหวังมากไปมั้ย ถ้าประเทศไทยเราจะมีสื่อวิทยาศาสตร์ชั้นเยี่ยม อย่าง Quanta Magazine หรือมีนักอธิบายที่เก่งกาจอย่าง Richard Feynman, Michio Kaku, Neil deGrasse Tyson, Steve Strogatz, Eugenia Cheng (และผู้เก่งกาจอื่นๆ อีกมากมายที่ผมตกหล่นการเอ่ยนาม ขออภัยที่ผมยังรู้จักเพียงเท่านี้)

หรืออย่างน้อยๆ ก็ทำเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ให้ได้มาตรฐานอย่างที่คุณชัยวัฒน์ คุประตกุล ตำนานนักเขียนวิทยาศาสตร์เมืองไทยเคยทำเอาไว้ หรือถ้าจะเอาแนวยียวนกวนตีนหน่อย ก็ลองดูแทนไท ประเสริฐกุลที่จัดจ้านในการเรียงร้อยถ้อยคำ แต่ก็ยังรับฟังความเห็นอย่างตั้งอกตั้งใจก็ได้


ผมไม่ได้อยากจะเป็นศัตรูกับใคร พอแล้วกับการสร้างศัตรูกับคนในแวดวงเดียวกัน

ตรงกันข้าม ผมอยากเป็นมิตรกับพวกคุณอย่างสุดซึ้ง เพื่อที่ว่าถ้าเราทำอะไรพลาดพลั้งไป จะได้ตักเตือนกันให้กลับมาเข้าร่องเข้ารอยได้

ใครๆ ก็เคยทำผิดมาทั้งนั้น นักวิทยาศาสตร์ระดับโลกอย่างไอน์สไตน์ก็ยังผิดมาแล้วกับการไม่ยอมรับเรื่อง big bang และ quantum uncertainty แต่สุดท้ายก็ต้องจำนนต่อหลักฐานที่ธรรมชาติเผยให้เห็น

Grant Sanderson (เจ้าของช่องคณิตศาสตร์ 3Blue1Brown) ก็เคยผิดมาแล้วตอนวิเคราะห์เกม Wordle และอัดวิดีโอแก้ไขในหนึ่งสัปดาห์ให้หลัง

Matt Parker (ช่อง Stand-up Maths, หนังสือ Humble Pi) ก็เคยพลาดมาแล้วตอนเขียนโปรแกรมแก้ Wordle ที่ใช้เวลารันอัลกอริทึมไปเป็นเดือน แต่ก็ได้ Benjamin Paassen มาแก้ไขให้ว่ามีอัลกอริทึมที่ทำงานแค่ครึ่งชั่วโมงก็พอ

ผมเองก็เคยทำผิดมาเยอะ อย่างเช่นความจงเกลียดจงชังต่อสมการกำลังสอง $\big(-b\pm\sqrt{b²-4ac}\big)/2a$ จนคิดว่าควรถอดสมการนี้ออกจากหลักสูตรมัธยม แต่ก็ได้กัลยณมิตรที่ดีที่มาช่วยฉายแสงให้เห็นถึงความสวยงามทางการคิดเชิงพีชคณิตและเข้าใจถึงความสำคัญอย่างยิ่งยวดของมัน

เราทุกคนไม่ได้ฉลาดลงลึกไปหมดเสียทุกเรื่อง มันจะเสียหายอะไรถ้าเราจะรับฟังผู้ที่เชี่ยวชาญกว่าในเรื่องที่เราไม่ถนัด?

อย่าลืมว่าเป้าหมายสูงสุดของเราก็ต่างต้องการเห็นสังคมที่ชาญฉลาดในโลกที่ศิวิไลซ์ ไม่ใช่การย้อนหลังกลับไปหลงเชื่องมงายในเรื่องเล่าที่ไร้หลักฐานใดใดมารองรับ

Originally published on: Facebook

neizod

author