หนังสือญี่ปุ่น
หนังสือญี่ปุ่นนี่ทำเอาคัลเจอร์ช๊อคมาหลายรอบ
รอบแรกเลย (ที่หลายคนน่าจะมีประสบการณ์ร่วม) คือตอนที่สำนักพิมพ์การ์ตูนต่างๆ ในไทยยกเลิกการพิมพ์แบบเปิดอ่านจากซ้ายไปขวา แล้วพิมพ์ตามต้นฉบับญี่ปุ่นที่อ่านจากขวามาซ้ายแทน
อันนี้เปิดโลกมากจริงๆ อย่างแรกคือตอนนั้นเพิ่งรู้เลยว่ามีโลกที่พลิกกระดาษอ่านหนังสือในทิศทางที่ไม่เหมือนเราด้วย … และหนังสือการ์ตูนที่เราแปลพิมพ์ในไทย (แบบซ้ายไปขวาที่เราคุ้นชิน) ก็ใช้วิธีกลับรูปแบบส่องผ่านกระจกไปเลย ซึ่งทำให้เกิดความแปลกๆ ที่รูปสิ่งของต่างๆ ในภาพมันกลับด้าน หรือไม่งั้นถ้าเนื้อหามีการพูดถึงเรื่องซ้าย-ขวา (อย่างในนักสืบโคนัน) ก็ต้องเลือกเอาละว่าจะแปลคำโดยสลับซ้าย-ขวาไปด้วย หรือปล่อยให้คนอ่านไปงงเอาเอง
พอสำนักพิมพ์ไทยเลิกกลับด้านรูปก็รู้สึกว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องนะ อย่างน้อยก็ไม่ต้องมีปัญหากับการแปลโดยต้องคำนึงถึงการสลับด้าน อย่างมากก็คือเคารพต้นฉบับโดยการไม่แก้รูปต้นทางจนมากเกินไป
แต่นั่นก็ทำให้เราเข้าใจมาตลอดว่าหนังสือญี่ปุ่น มีแต่แบบเปิดอ่านจากขวามาซ้ายเท่านั้น
พอได้เดินร้านหนังสือที่ญี่ปุ่นจริงๆ ถึงพบว่ามีหนังสือญี่ปุ่นอีกไม่น้อยเลยทีเดียว ที่ใช้วิธีเปิดอ่านจากซ้ายไปขวาด้วย
ตอนแรกก็นึกว่าหนังสือที่เลือกพิมพ์จากซ้ายไปขวา คือหนังสือแปลจากภาษาต่างประเทศอะไรอย่างงี้ แต่พอค้นเพิ่มถึงพบว่าจริงๆ แล้วหนังสือพวกนั้นคือหนังสือญี่ปุ่นแท้ 100% เลยหล่ะ ไม่ได้เป็นหนังสือแปลแต่อย่างใด
ซึ่งหนังสือบางเล่มที่เค้าพิมพ์ให้เปิดจากซ้ายไปขวานั้น เพราะว่าในหนังสือเป็นการเขียนตัวอักษรในแนวนอนจากซ้ายไปขวาแล้วขึ้นบรรทัดใหม่ด้านล่างนั่นเอง (แน่นอนว่าหนังสือที่พิมพ์ให้เปิดอ่านจากขวามาซ้ายที่เรามีภาพจำมาจากพวกหนังสือการ์ตูน ก็คือหนังสือที่ทำในสิ่งที่กลับด้านกัน โดยเรียงอักษรหนึ่งบรรทัดในแนวตั้งจากบนลงล่าง แล้วขึ้นบรรทัดใหม่ไปทางด้านซ้ายนั่นเอง)
ก็คือคนญี่ปุ่นเองนั้นมีการเขียน-อ่านทั้งสองแบบใช้ร่วมกัน
เท่าที่ทันสังเกตในเวลาจำกัด พวกการ์ตูนและนิยายต่างๆ เป็นการเขียนในแนวตั้ง เช่นเดียวกับป้ายวัดหรือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ส่วนหนังสือวิชาการและหนังสือเด็กนั้นเขียนในแนวนอนจากซ้ายไปขวา ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกันกับการเขียนตัวอักษรของภาษาต่างๆ ในสากลโลก
เพราะงั้นถ้าจะสรุปว่าการเขียนแนวตั้งนั้นเป็นการอนุรักษ์รากเหง้า ส่วนการเขียนแนวนอนนั้นเป็นการปรับตัวเข้ากับอนาคต ก็คงจะไม่ผิดซะทีเดียวหละมั้ง
และญี่ปุ่นก็กำลังปรับตัวอยู่
Originally published on: Facebook
author