วงแหวนเว็บ

neizod's speculation

insufficient data for meaningful answer

แมลงเต่าทอง (หนังสือเด็ก)

Monday, December 5, 2022, 07:26 PM

กลับมาไทย อ่านหนังสือ(แปล)ไทย ก็ได้แต่ถอนหายใจหน่อยๆ

อย่างอันนี้หนังสือเด็กซึ่งมีคำโฆษณาที่หน้าปกว่าเป็นแบบสองภาษา ตอนเห็นทีแรกก็คือแอบรู้สึกโอเคเลยนะ ได้เวลาที่เด็กไทยจะเติบโตขึ้นไปเป็นพลเมืองโลกซักที

แต่พอเปิดดูข้างในจริงๆ ละส่ายหัวเลย ภาษาอังกฤษไม่ได้เยอะขนาดกำกับคำแปลจุดต่อจุดขนาดนั้น ประโยคส่วนใหญ่ในหนังสือถูกแปลเป็นไทยหมดแล้ว ภาษาอังกฤษมีกำกับควบคู่แค่ตรงประโยคหลักของหนังสือเท่านั้น

ซึ่งนั่นยังไม่ใช่จุดอ่อนที่สุดด้วยซ้ำ เพราะคุณภาพการแปลนี่น่าเศร้ากว่าเยอะ

(เผื่อใครยังไม่อยากอคติ งั้นขอยกประโยคมาให้อ่านเองก่อนที่เราจะร่ายต่อดีกว่า)

อย่างบทหนึ่งในหนังสือที่แปลไทยออกมาว่า

ฉันมีลายจุด ฉันมีรอยแต้มเล็กๆ ตามขนาดตัวของฉัน
ฉันคือแมลงเต่าทองสีแดงเหมือนทับทิม มาบินไปด้วยกันเถอะ

ส่วนต้นทางภาษาอังกฤษที่กำกับไว้คือ

I’m dotty and spotty, as small as can be.
I’m a ruby-red ladybird. Come fly with me.


โอเค ถึงให้เอาแว่นตาความเป็นไทยที่เราเรียนภาษาอังกฤษกันมาเป็นสิบปีแต่ก็พูดไม่ได้แปลไม่ออกมาใส่มองประโยคนี้เลยนะ อย่างน้อยเราก็ต้องเอ๊ะอะไรบ้างแล้วหรือเปล่า ว่าประโยคข้างต้นนั้นมีการจงใจเลือกเอาคู่คำที่คล้ายกันมากๆ มาใช้ก็คือ

dotty — spotty

กับ

can be — with me

หรือแม้กระทั่ง

ruby-red — ladybird

ใช่แล้ว! ประโยคข้างต้นในภาษาอังกฤษเค้าแต่งเป็นแบบ “บทกลอน” ที่มีสัมผัสไงหละ

และการเล่นคำเพิ่มสัมผัสในหนังสือเด็กนี่เป็นอะไรที่สำคัญมากๆ เพราะมันจะช่วยพัฒนาทักษะการใช้ภาษาของเด็กเล็ก (และรวมไปถึงผู้ใหญ่ที่เรียนภาษาอื่นภายหลัง) นั่นเอง ตั้งแต่การรับรู้โครงสร้างในทำนองเดียวกันของคำเหล่านั้น ไปจนถึงทักษะการฝึกแยกคำที่คล้ายคลึงกันแต่มีความหมายไม่เหมือนกัน

แต่ภาษาไทยที่แปลมาแล้วข้างต้นนี่แปลมาแต่ความหมาย โครงสร้างสัมผัสหายหมดเลย 😞


อ่ะ เดี๋ยวจะหาว่าติอย่างเดียวไม่ก่อ งั้นมาดูกันหน่อยว่าเราจะปรับปรุงได้ยังไง

โครงสร้างของ “บทกลอน” ต้นฉบับนั้นค่อนข้างหลวมกว่ากลอนไทยที่เราเรียนกันตอนประถมเป็นอย่างมาก แต่หลักๆ เลยเราน่าจะมองเห็นว่า บทกลอนทั้งหมดแบ่งประโยคได้เป็น 4 กลุ่มคำ โดยกลุ่มคำแรกใช้เทคนิคสัมผัสคำเสียงคล้าย (dotty-spotty) และกลุ่มคำที่สองกับสี่นั้นใช้คำลงท้ายเสียงเดียวกัน (be-me)

ตรง dotty-spotty นี้คงแก้ยาก จะว่าไปต้นทางภาษาอังกฤษก็แอบโกงด้วยการเล่นคำเติม -y เข้าไปด้านหลังเพื่อให้มันเป็นเสียงเดียวกัน แต่อย่างน้อยเราอาจจะเปลี่ยนไปใช้คำที่ไม่ต้องพ้องเสียงมากนักแต่มีโครงสร้างคล้ายกันอย่างเช่นแค่นับจำนวนคำให้เท่ากันก็ได้

ฉันมีลายจุด, ฉันมีรอยแต้ม, มากมายตามตัวเล็กๆ ของฉัน.

… แค่นี้ก็อ่านแล้วรู้สึกได้ถึงความมีสัมผัสโครงสร้างอะไรบางอย่างที่ช่วยให้ฟังสนุกขึ้นแล้วหรือเปล่า

หรือถ้าจะให้ดีกว่านั้น เราอาจไม่ต้องแปลตรงๆ แบบคำต่อคำทิ้งไปก็ได้ป่ะ อย่าง dotty กับ spotty นี่เป็นคำที่ความหมายเหมือนกัน และหน้าที่ของมันในประโยคดังกล่าวก็คือเพื่อสร้างสัมผัส นั่นหมายความว่าแล้วเราอาจโยนคำนึงทิ้งไปได้โดยไม่เสียความหมายเลย แล้วเลือกคำอื่นที่มีสัมผัสตรงกันมาสร้างประโยคแทนก็ได้

ซึ่งอาจเป็นสัมผัสอักษร

ฉันมีลายจุด, ขนาดเล็กจิ๋ว, ลวดลายมากมายเต็มตัวฉัน.

หรือจะเป็นสัมผัสสระ (ที่น่าจะเข้าท่ากว่า?)

ฉันมีจุดจิ๋ว, อันเล็กปะติ๋ว, ประดับบนตัวน้อยๆ ของฉัน.

แล้วตรง be-me นี่ผิดอย่างไม่น่าให้อภัย ภาษาไทยก็เกือบใช้ได้แล้ว จะมาลงท้ายด้วย “เถอะ” เพิ่มทำไม เฮ้ออออออ

ส่วน ruby-red ladybird นี่ยากหน่อย แต่ถ้ามองออกมันก็คือการเล่นคำ ด้านหน้าสามพยางค์ด้านหลังสามพยางค์ ทั้งสองส่วนออกเสียงในแนวเดียวกันเป็น สั้น-สั้น-ยาว เพราะงั้นตอนแปลออกมาไม่จำเป็นเลยที่ต้องถอดมาเต็มๆ ว่า “สีแดงเหมือนทับทิม” แค่เอาไอเดียหลักให้ได้ว่ามีสีแดงก็น่าจะพอแล้วนี่หน่า

พอเอาทั้งหมดมาเขียนรวมกัน คงได้เป็น

ฉันมีจุดจิ๋ว, อันเล็กปะติ๋ว, ประดับบนตัวน้อยๆ ของฉัน.
ฉันคือแมลงเต่าทองสีแดงแจ่ม. พวกเรามาโบยบินไปด้วยกัน.

เอาเหอะ ถือว่าบ่นทิ้งบ่นขว้างละกัน ลางเนื้อชอบลางยาเนอะ อยากได้คำแปลถูกต้องตรงเป๊ะก็อยู่ตรงโน้นต่อไปละกัน

ส่วนเราคงลาขาดกับหนังสือแปลไทยจริงๆ แล้วหละ

Originally published on: Facebook

neizod

author