วงแหวนเว็บ

neizod's speculation

insufficient data for meaningful answer

BarCamp บางเขน 2023a

Sunday, February 19, 2023, 11:36 AM

หลังจากวิกฤตโควิดที่ทำให้งานสังสรรค์ต่างๆ ในช่วง 2 ปีก่อนถูกยกเลิกไป การมาถึงของบาร์แคมป์เมื่อวานนี้จึงเป็นเหมือนแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ที่บอกว่าสถานการณ์กำลังกลับมา “ปรกติ” แล้วนะ

และสำหรับผมแล้ว งานครั้งนี้ก็นับว่าจัดมาได้ดีและสนุกเหนือความคาดหมายเลยทีเดียว … ไม่สิ ถ้านับรวมการเว้นช่วง “ส่งไม้ต่อ” จากรุ่นก่อนๆ จนประหนึ่งว่าเราเริ่มนับใหม่จากศูนย์ นิสิตยุคหลังโควิดชุดนี้ก็ถือว่าจัดงานออกมาได้อย่างยอดเยี่ยมมาก!

อย่างไรก็ตาม จะให้สรุปไปถึงขั้นว่างานนี้เพอร์เฟกต์มั้ย ก็ไม่แน่นอน

@Charvin98 ที่ไม่ได้มาแค่กับสไลด์เล่าเรื่องหมูกรอบ แต่ยังเตรียมหมูกรอบจริงๆ มาให้ชิมถึงที่!

ผมคิดว่าผมคงไม่ต้องลงรายละเอียดเล่าย้อนประวัติของบาร์แคมป์ที่ตรงนี้ ข้อมูลนั้นมันแพร่หลายหาอ่านได้ง่ายโดยทั่วไปอยู่แล้ว (และในอีกแง่หนึ่งก็คือเมื่อยุคสมัยมันเปลี่ยนไป จะจำกัดตัวเองด้วยกรอบดั้งเดิมจากอดีตอีกทำไม)

แต่ว่าหัวใจสำคัญจริงๆ ของบาร์แคมป์คืออะไรหละ?

การจะตอบคำถามนี้ได้ อาจเริ่มจากการดูว่าบาร์แคมป์นิยามตัวเองไว้อย่างไร ซึ่งศัพท์ภาษาอังกฤษต้นทางเค้าเรียกตัวเองว่าเป็นงานแบบ unconference ที่ถ้าเราเอาคำนี้ไปเปิดพจนานุกรมก็จะไม่เจอ เพราะมันเป็นศัพท์ประดิษฐ์จากคำนำหน้า un- “ไม่” กับ conference “สัมมนา” มาสมาสกัน แน่นอนว่าถ้าแปลเป็นไทยตรงๆ ว่าเป็นงาน “ไม่สัมมนา/อสัมมนา” ก็คงไม่สื่อความหมายอะไรเท่าไหร่ (ไม่มีสัมมนาก็แยกย้ายกลับบ้านสิ ถถถถ) ถ้าจะแปลให้คงความหมายเอาไว้ก็จะอาจได้ว่าเป็นงาน “สัมมนาอย่างไม่เป็นทางการ” ซะมากกว่า

งั้นแล้วงาน “สัมมนา” คืออะไร? เอาง่ายๆ มันก็คืองานปาร์ตี้ (ที่มีช่วงให้คนหนึ่งคนยึดไมค์ไปพูดเรื่องจริงจัง) เท่านั่นแหละ

และงานปาร์ตี้ก็คือ ไปเจอเพื่อนปัจจุบันที่เจอกันอยู่แล้วทุกวันเลยยังไม่คุย ไปเจอเพื่อนเก่าที่ไม่ได้เจอกันนานเพื่ออัพเดทชีวิต ไปเจอเพื่อนใหม่ในงานเพื่อขยายวงคนรู้จักให้กว้างขวางออกไป

ดังนั้นงานสัมนาอย่างไม่เป็นทางการ มันก็คือการเปลี่ยนในส่วนที่พูดหัวข้อจริงจังที่มีผลกระทบในวงกว้าง (อย่างเช่นสถานการณ์ PM2.5 และความร่วมมือจากภาครัฐ) ไปเป็นเรื่องที่อาจฟังดูไร้สาระอย่างงานอดิเรกส่วนตัว (ทอดหมูกรอบ) แค่นั่นแหละ

เพราะถ้าจะให้เปลี่ยนส่วนปาร์ตี้ที่ได้พบปะพูดคุยกับคนอื่น ไปเป็นงานที่ฟัง/พูดอย่างเดียวไม่ต้องสุงสิงกับใคร แบบนั้นมันก็คงจะไม่สนุกเท่าไหร่

นี่แหละ หัวใจสำคัญของงานบาร์แคมป์ การได้พบปะแลกเปลี่ยนกับคนที่มีความสนใจอันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนเก่าเพื่อนปัจจุบันหรือแม้กระทั่งเพื่อนใหม่ที่ไม่คาดคิด

แม่ย้อย ทุกอันอ่านว่าแม่ย้อยยยยยย – @LXZE ไม่ได้กล่าว

แล้วงั้นทำไมไม่แค่จัดปาร์ตี้เฉยๆ ก็พอ? จะให้ถือไมค์ขึ้นพูดงานอดิเรกไปด้วยทำไม?

เอางี้ ถ้าเราจับพวกทีชอบสังสรรค์ (extrovert) มารวมตัวกันโดยไม่บอกกล่าวอะไร ในเวลาไม่นานบรรดาคนเหล่านั้นก็จับกลุ่มเล่นเบียร์ปอง เดินวนชนแก้วกับทุกคนในงานไปสามรอบ แล้วก็ชิตแชตเรื่องงานอดิเรกของตัวเองไปทั่ว โดยที่เราไม่ต้องชี้แนะอะไรเพิ่มเติมแล้ว

แต่ถ้าจับเหล่าเด็กเนิร์ดที่เข้าสังคมไม่เก่ง (introvert) มารวมตัวกันจะได้อะไรหละ? คงหนีไม่พ้นห้องสมุดที่ทุกคนนั่งเงียบในมุมของตัวเองแล้ววิเคราะห์ว่าถ้าสุ่มหยิบ 6 คนในงานนี้ อย่างน้อย 3 คนต้องเป็นกลุ่มเพื่อนกัน หรือไม่งั้นก็เป็นคนแปลกหน้ากันไปเลย หละมั้ง

การหาพื้นที่ให้พวกเขาได้ขึ้นพูดอย่างฟรีสไตล์ในเรื่องที่ตัวเองสนใจ ก็เป็นวิธีการทำลายกำแพงน้ำแข็งที่ง่ายที่สุดของเหล่าเด็กเนิร์ดเนี่ยแหละ (และก็ต้องยอมรับว่า การให้พวกเขาได้พูดเรื่องราวที่คลั่งไคล้อย่างลงลึกในรายละเอียด ก็ทำให้พวกเขาส่องประกายอย่างเจิดจ้าอีกด้วย ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่หาได้ยากมากๆ ในสังคมที่ทุกคนต่างให้แสงแต่คนที่เข้าสังคมเก่ง)

คุณโจอี้(ไม่มี sns) กำลังเปิดหัวข้อพิเศษหลังจากเวลาเหลือ เพื่อโชว์การหมุน quaternion เพื่อเติมเต็ม @dtinth ที่ขึ้นพูดหัวข้อก่อนหน้า … เราจะเจอคนเจ๋งๆ แบบนี้ได้จากที่ไหนถ้าไม่ให้เวทีเค้าขึ้นพูด?

น่าเสียดายว่างานนี้แม้จะมีหัวข้อนำเสนอจำนวนน้อย ไม่ค่อยมีบรรยากาศที่ชักชวนให้เราทลายกำแพงไปรู้จักคนใหม่ๆ เท่าไหร่ แต่สุดท้ายจนจบงานแล้วก็ยังมีหัวข้อล้นออกมาจนมีคนไม่ได้ขึ้นพูดอยู่ดี

ทั้งที่เราควรให้โอกาส ให้แสงส่องไปยังคนเหล่านั้นด้วยแท้ๆ … มันน่าจะมีวิธีอื่นๆ หรือเปล่า ที่จะให้พื้นที่แก่พวกเขาด้วย?

ส่วนปัญหาอย่างการเลือกห้องไม่ถูกเพราะมีเรื่องน่าสนใจหลายเรื่องพูดชนกัน หรือแม้กระทั่งคนเสนอหัวข้อนั้นติดธุระไม่สามารถขึ้นพูดได้ทั้งที่ได้ห้องแล้ว … จริงๆ ปัญหานี้อาจถูกแก้ไขได้ง่ายนิดเดียว แค่เราเชิญแคนดิเดตผู้พูดทุกคนในช่วงนั้นๆ มา “ดีล” กันสั้นๆ 10 นาทีก่อนเริ่มต้นช่วงสัมมนา ว่าใครจะเอาห้องไหนเวลาไหนไปบ้าง (หรือแม้กระทั่งเจอคนเสนอหัวข้อคล้ายกันมากๆ จะสามารถยุบรวมได้มั้ย) ไม่ใช่ว่าปล่อยให้ระบบมาจัดการตารางเวลาโดยอัตโนมัติ

แต่ก็นั่นแหละ การจะทำอย่างนั้นได้ก็น่าจะต้องเกิดจากการละลายเส้นแบ่งระหว่าง “ผู้จัดงาน” กับ “ผู้ร่วมงาน” ทิ้งไปก่อน แล้วมองว่า “ผู้ร่วมงานทุกคนก็คือผู้จัดงาน” แล้วก็จัดงานแบบปล่อยๆ ให้ทุกคนมีส่วนร่วมตัดสินใจ

แบบนี้จะยิ่งช่วยทะลายกำแพงให้คนรู้จักกันได้ดีกว่าการแค่ให้พูดๆๆ/ฟังๆๆ อย่างเดียวด้วยซ้ำ

สิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดที่สุดคงเป็นยี้ห้อพิซซ่า

แน่นอนว่าช่วงเวลาสั้นๆ แค่หนึ่งวัน จากคนแปลกหน้าจะให้กลายเป็นเพื่อนสนิทกันมันคงเป็นไปไม่ได้ และการสร้างเครือข่ายเพื่อต่อยอดความสนใจมันคงมีความซับซ้อนยิ่งกว่านั้น

แต่ถ้าแค่ปาร์ตี้หลังงานเลิกแล้วยังมีคนนั่งกินข้าวคนเดียวอยู่ ผมว่าเราก็คงพูดได้ไม่เต็มปากนะว่างานนี้มันบรรลุวัตถุประสงค์

Originally published on: Facebook

neizod

author