วันในสัปดาห์
หนึ่งปีมี 365 วัน (โดยประมาณ) และหนึ่งเดือนก็มี 30 วัน (โดยประมาณ) นั่นเป็นความรู้ที่บรรพชนของเราสังเกตและรับทราบมาอย่างเนิ่นนาน โดยมันเป็นสิ่งที่ดวงดาวบนฟากฟ้าส่งผลกระทบต่อมนุษย์โดยตรง1 แต่ทำไมหนึ่งสัปดาห์จึงต้องมี 7 วันหล่ะ? มีเหตุการณ์ธรรมชาติอะไรที่เกี่ยวเนื่องกำกับเลขตัวดังกล่าว? … คำตอบอาจทำให้ผิดหวัง เพราะว่ามันไม่ได้มีเหตุผลทางธรรมชาติเข้ามาเกี่ยวข้องเลย การเลือกเลข 7 มาใช้นั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมาล้วนๆ2
อึมมม จะบอกไปถึงขั้นว่าธรรมชาติไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเลยก็คงไม่ถูก เพราะหนึ่งในเหตุผล(เล็กๆ)ที่เราเลือกเลข 7 มาใช้ ก็เพราะว่าคนโบราณมองเห็นเทหวัตถุ (heavenly body) ที่โดดเด่นด้วยตาเปล่าอยู่ 7 ชิ้น ซึ่งก็คือ
- ☉ ดวงอาทิตย์
- ☾ ดวงจันทร์
- ♂ ดาวอังคาร
- ☿ ดาวพุธ
- ♃ ดาวพฤหัส
- ♀ ดาวศุกร์
- ♄ ดาวเสาร์
เราเลยเรียกชื่อวันต่างๆ ตามดวงดาวเหล่านั้น …
… เรื่องที่น่าประหลาดใจก็คือ หลายวัฒนธรรมบนโลกที่เลือกใช้ระบบนี้ ต่างก็เรียกชื่อวันด้วยดวงดาวในลำดับดังกล่าวเหมือนกันทั้งหมด!3 ซึ่งจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ที่เราค้นพบมา นี่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นเหตุการณ์โลกาภิวัตน์ (globalization) ที่มีมาก่อนกาลเลยทีเดียว
เริ่มจากอู่ข้าวอู่น้ำวัฒนธรรมมนุษย์ ที่ชาวบาบิโลน/สุเมเรียน (หรืออาจย้อนกลับไปได้ไกลกว่านั้น) ได้วางรากฐานระบบ 7 วันต่อสัปดาห์ด้วยชื่อดวงดาวมานับหมื่นปีก่อน จนต่อมาชาวกรีกโบราณได้รับระบบดังกล่าวมาปรับใช้ โดยเปลี่ยนไปเรียกชื่อวันต่างๆ ด้วยชื่อเทพเจ้าของตนแทน (จึงทำให้เทพเจ้ามีดวงดาวประจำตน–หรือไม่งั้นก็ในทางกลับกัน) และต่อมาชาวโรมันโบราณก็ได้เปลี่ยนชื่อเทพประจำวันเหล่านั้นให้เป็นเทพเจ้าแบบโรมันอีกต่อหนึ่ง (แต่ยังคงไว้ซึ่งความเป็นเทพองค์เดิมอยู่) ซึ่งก็คือ
- Sol / Helios
- Luna / Selene
- Mars / Ares
- Mercurius / Hermes
- Jove / Zeus
- Venus / Aphrodite
- Saturn / Kronos
ดังนั้นเมื่อโลกตะวันตกแผ่ขยายอำนาจตั้งแต่ราวสองพันปีก่อน จึงได้นำพาให้ระบบดังกล่าวแพร่หลายไปยังวัฒนธรรมต่างๆ ทั่วทุกมุมโลกด้วยเช่นกัน เช่นประเทศไทยเราที่รับระบบสัปดาห์มาจากฮินดูอีกที (และฮินดูก็รับมาจากโรมันช่วงราวศตวรรษที่ 6) จึงเทียบเคียงเป็นเทพเจ้า/ดวงดาวของตนได้ดังนี้
- सूर्य สุริยา
- चंद्र จันทรา
- मंगल มงคล
- बुध พุธ
- बृहस्पति (गुरु) พฤหัสบดี (กูรู)
- शुक्र ศุกร์
- शनि ศนิ
อันที่จริงแล้วชาวฮินดูบูชาเทพเจ้าแห่งฟากฟ้าเยอะกว่าชาวกรีก-โรมันอยู่หน่อยนึง โดยมีราหู (राहु) และเกตุ (केतु) เพิ่มเข้ามา อย่างไรก็ตามเทพทั้งสององค์นั้นไม่ได้มีเทหวัตถุบนท้องฟ้าเป็นตัวแทนจริงๆ แต่เป็นตำแหน่งโหนดขึ้นและลงของดวงจันทร์ (เกี่ยวเนื่องกับการเกิดอุปราคา) ซึ่งทั้งหมดนี้รวมกันเป็นนพเคราะห์ตามความเชื่อของชาวฮินดูนั่นเอง
ส่วนวัฒนธรรมทางฝั่งตะวันออกอย่างญี่ปุ่น(และเกาหลี)ก็เรียกชื่อวันต่างๆ ดังนี้
- 日 ดวงอาทิตย์
- 月 ดวงจันทร์
- 火 ไฟ / ดาวอังคาร
- 水 น้ำ / ดาวพุธ
- 木 ไม้ / ดาวพฤหัส
- 金 ทอง / ดาวศุกร์
- 土 ดิน / ดาวเสาร์
นอกจากสองวันแรกที่มาจากดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ซึ่งเป็นเทหวัตถุขนาดใหญ่บนฟากฟ้าแล้ว ชื่อดาวเคราะห์อีกห้าดวงที่เหลือนั้นยังเกี่ยวพันระบบธาตุทั้งห้า (五行) อีกด้วย
น่าเสียดายว่าประเทศจีนซึ่งเป็นทางผ่านของระบบดังกล่าวไปยังญี่ปุ่นและเกาหลี (จีนรับระบบเจ็ดวันต่อสัปดาห์เข้ามาตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 4-8) ได้ผ่านช่วงล้างบางปฏิวัติวัฒนธรรมไปเสียก่อน ทำให้ปัจจุบันชาวจีนเรียกชื่อวันด้วยการนับเลขไล่ไปเลย (วันจันทร์คือวันที่หนึ่งของสัปดาห์ วันอังคารคือวันที่สอง ฯลฯ) จะคงไว้ก็แค่วันอาทิตย์ที่ยังคงให้เกียรติดวงดาวด้วยการกล่าวว่ามันคือวัน 星期日 (วันแห่งดวงอาทิตย์ของสัปดาห์)
อันที่จริงประเทศในกลุ่มสลาฟ (รัสเซีย ยูเครน เช็ก ฯลฯ) ก็นิยมชมชอบการเรียกชื่อวันด้วยการนับเลขเช่นกัน นี่อาจจะเป็นมรดกตกทอดมาจากลัทธิคอมมิวนิสต์หละมั้ง(?)
ส่วนปัจจุบันชาวตะวันตกหลายชาติก็ยังคงยึดเหนี่ยวกับระบบดั้งเดิมอย่างเหนียวแน่น คือเรียกชื่อวันต่างๆ ด้วยดวงดาว/เทพเจ้าโรมันตามรากฐานที่บรรพชนวางไว้ แต่มีการปรับปรุงเล็กน้อยตามอิทธิพลของศาสนาคริสต์ คือ เรียกวันอาทิตย์ว่าเป็นวันของพระผู้เป็นเจ้า (domenica) และเรียกวันเสาร์ว่าวันสะบาโต (sabato) แทน ชาวคริสต์เลยพักผ่อนวันเสาร์และไปเข้าโบสถ์วันอาทิตย์นั่นเอง
สำหรับภาษาอังกฤษจะมีความยุ่งเหยิงเพิ่มเติมเล็กน้อย เพราะได้รับอิทธิพลจากเยอรมัน (แองโกล-แซกซัน) ทับเข้าไปอีกต่อหนึ่ง จึงมีการเทียบเคียงเปลี่ยนตัวจากเทพเจ้าโรมันให้กลายเป็นเทพเจ้านอร์สที่ชาวเยอรมันนับถือ (ไม่ใช่เป็นแค่การเปลี่ยนชื่อเหมือนตอนเทพเจ้ากรีก-โรมัน) จึงทำให้กลายเป็น
- Sunday วันแห่งดวงอาทิตย์
- Monday วันแห่งดวงจันทร์
- Tuesday วันแห่ง Týr เทพสงคราม (เทียบเคียง Mars เทพสงคราม)
- Wednesday วันแห่ง Odin เทพผู้นำทางวิญญาณ (เทียบเคียง Mercury เทพแห่งการเดินทาง)
- Thursday วันแห่ง Thor เทพสายฟ้า (เทียบเคียง Jupiter ที่ใช้สายฟ้าเช่นกัน)
- Friday วันแห่ง Frigg/Freya เทพีความงาม (เทียบเคียง Venus เทพีความงาม)
- Saturday วันแห่ง Saturn คงไว้เป็นเทพโรมัน
แล้วทำไมเราถึงไล่เรียงลำดับดวงดาวต่างๆ มาเป็นชื่อวันที่ดูแล้วเหมือนกับการสุ่มอย่างไร้ระบบแบบแผนเช่นนี้? ทำไมถึงไม่ใช่ลำดับที่เรารู้จักกันดีที่ไล่เรียงดาวเคราะห์ตามระยะห่างจากดวงอาทิตย์ว่าคือ ดาวพุธ ดาวศุกร์ โลก(และดวงจันทร์) ดาวอังคาร ดาวพฤหัส ดาวเสาร์ แทนหละ
ประเด็นแรกคือชาวกรีกโบราณนั้นมองว่าโลกเป็นจุดศูนย์กลางของจักรวาล4 ดังนั้นระยะห่างของดวงดาวต่างๆ (คำนวณผ่านความเร็วในการเคลื่อนที่เทียบกับดาวพื้นหลัง) เรียงตามลำดับจากโลกไล่ออกไปได้แก่ ดวงจันทร์ ดาวพุธ ดาวศุกร์ ดวงอาทิตย์ ดาวอังคาร ดาวพฤหัส ดาวเสาร์
ประเด็นที่สองก็คือ ชาวกรีกโบราณนั้นไม่ได้แค่ตั้งชื่อวันในสัปดาห์เพื่อเป็นเกียรติแด่เทพเจ้า แต่ยังคิดไปถึงขั้นที่ว่ามีเทพเจ้าประจำแต่ละชั่วโมงกันเลยทีเดียว
และในหนึ่งวันของชาวกรีกนั้นก็มี 24 ชั่วโมง
ดังนั้นจึงได้ว่า $24 \equiv 3 \pmod{7}$ หรือก็คือเมื่อเราไล่บูชาเทพประจำชั่วโมงตามลำดับไปเรื่อยๆ พอขึ้นวันใหม่จะได้ว่าเทพองค์แรกของวันนี้ก็คือเทพ 3 องค์ถัดมาจากเทพองค์แรกของเมื่อวานนั่นเอง ดั่งจะเห็นได้จากตารางต่อไปนี้
♄ | ♃ | ♂ | ☉ | ♀ | ☿ | ☾ |
---|---|---|---|---|---|---|
0:00 | 1:00 | 2:00 | 3:00 | 4:00 | 5:00 | 6:00 |
7:00 | 8:00 | 9:00 | 10:00 | 11:00 | 12:00 | 13:00 |
14:00 | 15:00 | 16:00 | 17:00 | 18:00 | 19:00 | 20:00 |
21:00 | 22:00 | 23:00 | 0:00 | … |
รูปที่เค้าชอบเอามาประกอบคำอธิบายนี้คือดาวเจ็ดแฉก ซึ่งเริ่มจากวาดรูปวงกลมที่มีเทพเจ้าทั้งเจ็ดตามลำดับ จากนั้นลากเส้นเชื่อมเทพแต่ละองค์ให้เป็นรูปดาว โดยเว้นระยะห่างการสร้างแฉกครั้งละสามองค์นั่นเอง
ดาวเจ็ดแฉกสำหรับเรียงลำดับวัน
แต่เอาจริงๆ แล้วอะไรคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้หนึ่งสัปดาห์ถึงมี 7 วันกันแน่? เพราะถึงแม้ว่าเทหวัตถุบนท้องฟ้าจะสวยสดงดงามขนาดไหน แต่ถ้ากรอบแนวคิดสิ่งประดิษฐ์จากมนุษย์นั้นไม่มีประโยชน์ไร้ซึ่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของเรา สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนั้นก็คงล้มหายตายจากไปตั้งนานแล้ว ไม่อยู่เหลือรอดได้นานนับพันปีจนถึงทุกวันนี้หรอก
จากหลักฐานเท่าที่เรามี การหนึ่งสัปดาห์มี 7 วันนั้น แม้จะไม่ได้มีเหตุผลทางธรรมชาติมากำกับ แต่มันเป็นผลจากโครงสร้างเชิงสังคมของมนุษย์โดยตรง ซึ่งมีเหตุมาจากการที่ตลาดในยุคโบราณนั้นไม่ได้เปิดทุกวัน แต่จะเปิดเพียงแค่หนึ่งวันต่อ “สัปดาห์” เท่านั้น ตัวเลข 7 จึงถือว่าเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการดำรงชีวิต (ปัจจุบันยังเหลือร่องรอยในบางวัฒนธรรม เช่น ภาษาตุรกีเรียกวันอาทิตย์ว่า Pazar ที่แปลตรงตัวว่าตลาด)
แน่นอนว่าเลข 7 นี้ไม่ใช่เลขวิเศษอะไร ในสังคมวัฒนธรรมอื่นๆ ก็มีช่วงเวลาที่ตลาดเปิดถี่แตกต่างกัน เช่น ชาวชวาทุกวันนี้ยังคงใช้ระบบ 5 วันต่อสัปดาห์ควบคู่ไปกับสัปดาห์แบบสากล หรือชาวจีนโบราณก็เคยใช้สัปดาห์ละ 10 วันมาก่อน หรือแม้แต่ชาวโรมันที่เป็นตัวตั้งตัวตีของระบบ 7 วันต่อสัปดาห์ ก่อนหน้านั้นก็ยังเคยใช้สัปดาห์ละ 8 วันอีกด้วย
เมื่อเข้าสู่ยุคปัจจุบัน กับเมืองที่ขยายขนาดขึ้นจนมีประชากรจำนวนมหาศาลคอยสับเปลี่ยนหมุนเวียนหน้าที่กัน ตลาดสามารถเปิดได้ทุกวันไม่จำเป็นต้องมีวันหยุดอีกต่อไป แนวคิดเรื่องสัปดาห์จึงย้ายไปผูกกับชีวิตการทำงานแทน ซึ่งก็คือระบบที่เราคุ้นชินกันในทุกวันนี้ — ทำงานกันห้าวันแล้วหยุดสองวันนั่นเอง
ซึ่งนี่ก็อาจจะยังไม่ใช่คำตอบสุดท้ายว่าทำไมถึงต้องเป็น 7 วันต่อสัปดาห์ เพราะที่ผ่านมาก็มีการท้าทายแนวคิดนี้มาตลอด เช่น ช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส (1793-1805) ที่พยายามเปลี่ยนทุกอย่างให้อยู่ในเลขฐานสิบ (10 ชั่วโมง/วัน, 100 นาที/ชั่วโมง, ระบบเมตริก) แน่นอนว่ารวมไปถึงการทดลองใช้ระบบ 10 วันต่อสัปดาห์ด้วย (และพบว่ามันไม่เวิร์ก) หรือกับอดีตสหภาพโซเวียต (1929-1940) ที่ทดลองใช้ระบบ 5 วันต่อสัปดาห์ โดยแบ่งเป็นทำงานสี่แล้วหยุดหนึ่ง แต่จะสุ่มวันหยุดให้กับแรงงานแต่ละคนให้ไม่ซ้ำกัน เพื่อให้สามารถเปิดโรงงานได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปีเพราะไม่มีคนงานหยุดพร้อมกันนั่นเอง (และก็พบว่ามันไม่เวิร์กอีกเช่นกัน)
อาจจะเรียกได้ว่าเลข 7 มันบังเอิญชนะ (และชนะมาตลอด) เลยทำให้เรายังคงใช้สัปดาห์ละ 7 วัน (พร้อมทั้งอ้างเหตุผลเรื่องดวงดาวมาเกี่ยวข้อง) จนถึงทุกวันนี้
แต่ในโลกคู่ขนาน เราอาจจะมีสัปดาห์ละ 12 วันก็ได้นะ ใครจะรู้ 🤷♀️
อ้างอิง
- Holford-Strevens, Leofranc. The history of time: A very short introduction. Vol. 133. Oxford University Press, 2005.
- Brandon Rhodes: astronomy-notebooks
- ศิลปวัฒนธรรม: ชื่อ “วัน-เดือน” ของไทยมาจากไหน การใช้วันที่ 1,2,3… เริ่มเมื่อใด?
-
เราจำเป็นต้องเข้าใจวงจรปีเพื่อการเพาะปลูก เราจำเป็นต้องเข้าใจวงจรเดือนเพื่อการเดินเรือ ↩
-
บางวัฒนธรรมก็มีจำนวนวันในสัปดาห์แตกต่างไป แต่จำนวน 7 วันต่อสัปดาห์คือมาตรฐานสากลโลก ↩
-
ลองเทียบกับชื่อเดือน ที่แต่ละวัฒนธรรมก็มีรูปแบบการตั้งชื่อที่ต่างกันไปอย่างสิ้นเชิง เช่นของไทยที่อิงจักรราศี จีน-ญี่ปุ่นใช้ตัวเลข โรมันบูชาเทพ/รัฐบุรุษ ↩
-
โลกเป็นจุดศูนย์กลางในโมเดลของทอเลมี อย่างไรก็ตามยังมีโมเดลของอริสตาร์คัสที่ให้พระอาทิตย์เป็นจุดศูนย์กลางด้วยเช่นกัน แต่โมเดลดังกล่าวไม่ได้รับความนิยมเท่า ↩
author